xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จุฬาภรณ์ผลิตสารตรวจ “มะเร็งต่อมลูกหมาก” ครั้งแรกในไทย แม่นยำสูง ให้บริการ ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.จุฬาภรณ์ ผลิตสาร “แกลเลียม 68 พีเอสเอ็มเอ” ใช้ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากที่แรกของไทย มีความแม่นยำสูง เผย ใช้ตรวจระยะของโรค อาการกำเริบของโรค และติดตามผลการรักษา ช่วยแพทย์วางแนวทางรักษาแม่นยำขึ้น เตรียมให้บริการและผลิตขาย รพ. อื่น ก.ค. นี้ ในอัตราพิเศษ ถวายพระราชกุศล “เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ”

วันนี้ (30 มิ.ย.) รศ.พญ.ชนิสา โชติพานิช ผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ฝ่ายเวชศาสตร์นิวเคลียร์และเพทสแกน แถลงข่าวความสำเร็จในการผลิตสารเภสัชรังสี “แกลเลียม-68 พีเอสเอ็มเอ (68 GA-PSMA: Gallium-68 Prostate Speclfic Membrane)” เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่แรกในประเทศไทย ว่า ศูนย์ไซโคลตรอนฯ เปิดดำเนินการมากว่า 11 ปี ทำการศึกษาวิธีการตรวจและให้การรักษา โรคมะเร็ง และโรคทางระบบสมอง เช่น อัลไซเมอร์ และ พาร์กินสัน ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการผลิตสารเภสัชรังสีสำคัญมาแล้ว 7 ตัว ล่าสุด พัฒนาสารเภสัชรังสีตัวที่ 8 คือ 68 GA-PSMA เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาย ซึ่งมีความแม่นยำและจำเพาะต่อโรคสูงกว่า “คอลีน (Choline)” โดยผลิตได้เมื่อ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ถือว่าผลิตได้เร็วที่สุดในทุกตัวที่ผ่านมา ทั้งนี้ การผลิตได้นำสารตั้งต้นเข้ามาจากประเทศเยอรมนี

“68GA-PSMA เป็นสารที่ทั่วโลกนิยมใช้ในการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ที่ไม่สามารถนำเข้าสารสำเร็จรูปมาใช้ในประเทศไทยได้ เนื่องจากสารดังกล่าวมีครึ่งชีวิตสั้นเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ที่ผ่านมา ผู้ป่วยจึงต้องเดินทางไปตรวจที่ตางประเทศ จึงมีการพัฒนาขึ้นเองและสำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทย” รศ.พญ.ชนิสา กล่าวและว่า ส่วนสารตัวที่ 9 อยู่ระหว่างการเพื่อใช้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และสารตัวที่ 10 อยู่ระหว่างการศึกษา เป็นสารที่ใช้สำหรับการตรวจหามะเร็งในอวัยวะอื่นๆ ต่อไป

รศ.พญ.ชนิสา กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ในการใช้สารดังกล่าว คือ เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วเท่านั้น โดยจะใช้เพื่อดูระยะของโรคมะเร็ง ดูอาการกำเริบของโรค และใช้ตรวจว่า มะเร็งตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือรังสีรักษาหรือไม่ โดยจะฉีดให้กับผู้ป่วยโดยคำนวณจากน้ำหนักตัว จากนั้นเมื่อเข้าสู่การทำเพท-ซีทีสแกน ก็จะทำให้จุดที่มีปัญหา หรือเซลล์ที่มีปัญหาเกิดการเรืองแสงขึ้นมา ทั้งนี้ ยืนยันว่า สารดังกล่าวไม่มีอันตรายต่อร่างกาย โดยขณะนี้เตรียมที่จะนำสารดังกล่าวมาให้บริการเป็นครั้งแรกในช่วง ก.ค. นี้ ในอัตราราคาพิเศษ คือ ครั้งละ 25,000 บาท เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น เป็นการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ นอกจากการให้บริการตรวจแล้ว ยังผลิตส่งขายให้กับโรงพยาบาลที่มีเครื่องเพท-ซีทีสแกน แต่ไม่มีเครื่องผลิตสารเภสัชรังสีด้วย เบื้องต้นมี รพ.ศิริราช และ รพ.จุฬาลงกรณ์ ประสานขอซื้อสารดังกล่าวเข้ามาแล้ว โดยคิดราคาเดียวกับที่ให้บริการตรวจ

ด้าน นพ.วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา หัวหน้างานอายุรกรรม รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับที่ 4 ในผู้ชายไทย รองจากโรคมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนใหญ่พบในผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไป และพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยคนอายุ 70 ปีพบได้ 90 ต่อแสนประชากร ส่วนวัย 75 ปี พบได้ 110 ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ การใช้สารเภสัชรังสีดังกล่าวในกลุ่มผู้ป่วยเดิมที่ทำการอยู่รักษาแล้วดูว่าโรคกำเริบหรือไม่ ซึ่งจะมีความแม่นยำ ทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้นด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น