ศิริราชใช้ “มีดนาโน” รักษามะเร็งตับ - ตับอ่อน ที่ใช้การผ่าตัดไม่ได้ เผย เป็นแห่งเดียวที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในไทย ระบุ ข้อบ่งชี้ก้อนมะเร็งต้องเล็กกว่า 5 ซม. อยู่ชิดหลอดเลือดหรือท่อน้ำดี
วันนี้ (20 มิ.ย.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “แห่งเดียวในไทย ศิริราชรักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโน” ว่า รพ.ศิริราช มีการนำนวัตกรรมมีดนาโนมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งตับและตับอ่อนมาแล้ว 20 ราย ในระยะเวลา 3 ปี ถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบว่าให้ผลการรักษาดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ ทีมแพทย์จะต้องประเมินความเหมาะสมของผู้ป่วยก่อนว่าจำเป็นในการรักษาหรือไม่ ซึ่งหากวินิจฉัยว่ามีข้อบ่งชี้ต้องใช้วิธีนี้ก็ให้การรักษาทุกราย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงจึงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงและยังไม่ครอบคลุมสิทธิการรักษาภาครัฐ แต่หากผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ต้องใช้วิธนี้และไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเอง ก็จะมีการใช้เงินช่วยเหลือจากโครงการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและค่าใช้จ่ายสูง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศาลแด่พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งนี้ ประชาชนที่มีความประสงค์จะร่วมช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลมากขึ้น สามารถติดต่อบริจาคได้ที่ศิริราชมูลนิธิ โทร. 02-419-7658 -60
ผศ.นพ.ตรงธรรม ทองดี หัวหน้าสาขารังสีวินิจฉัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทย การรักษามะเร็งตับที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัด แต่ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จะรักษาด้วยวิธีการทางรังสีร่วมรักษา ได้แก่ การจี้ก้อนเนื้องอกเฉพาะจุด การให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือด สำหรับการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยเข็มที่ให้ความร้อน ปัจจุบันเทคโนโลยีที่นิยมใช้ คือ การให้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ และคลื่นไมโครเวฟ โดยเหมาะกับก้อนเนื้องอกที่มีขนาดไม่เกิน 5 ซม. ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูง แต่ยังมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถรักษาเนื้องอกได้ในทุกตำแหน่ง จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้น เรียกว่า การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโน (Nanoknife®)
นพ.สมราช ธรรมธรวัฒน์ อาจารย์แพทย์สาขารังสีวินิจฉัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโน หรือไฟฟ้าความต่างศักย์สูง จะให้การรักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดรักษาได้ เนื่องจากก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรและอยู่ชิดหลอดเลือดหรือท่อน้ำดี และเป็นมะเร็งในระยะไม่ลุกลาม วิธีการรักษาเป็นการจี้ก้อนเนื้องอกโดยใช้เข็มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง1 มิลลิเมตร อย่างน้อย 2 เล่ม แต่จะสอดสูงสุดไม่เกิน 6 เล่ม ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงถึง 3,000 โวลต์ ไหลผ่านเซลล์เนื้องอก ส่งผลให้เกิดรูขนาดเล็ก (nanopores) จำนวนมากที่เยื่อหุ้มเซลล์แบบถาวร ซึ่งจะทำให้เซลล์เกิดการตายแบบธรรมชาติ (apoptosis) โดยผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยวิธีการนี้ จะมีแผลขนาดเล็ก พักฟื้นในโรงพยาบาล 1 คืนสามารถกลับบ้านได้ มีความแม่นยำสูง และภาวะแทรกซ้อนน้อย
“ข้อดีของการใช้มีดนาโน คือ สามารถใช้รักษาก้อนเนื้องอกที่อยู่ชิดกับหลอดเลือดและท่อน้ำดี และทำให้เกิดการตายสมบูรณ์ในเฉพาะเซลล์เนื้องอก แต่จะไม่ทำลายเนื้อเยื่อและโครงสร้างร่างกายข้างเคียง ขณะที่การรักษาด้วยการจี้ความร้อนแบบเดิมมีข้อจำกัดในก้อนเนื้องอกที่อยู่ชิดกับหลอดเลือดและท่อน้ำดี อาจเกิดผลการรักษาที่ไม่ดีขึ้นได้ เพราะความร้อนที่ใช้สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่หลอดเลือด หรือท่อน้ำดีได้ รวมทั้งอาจเกิดการพัดพาความร้อนออกจากก้อนเนื้องอก เนื่องจากเลือดที่ไหลผ่าน (heat-sink effect) ทำให้ก้อนเนื้องอกบริเวณที่อยู่ใกล้กับหลอดเลือดนั้นไม่ได้รับความร้อนที่สูงพอ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดเนื้องอกกลับเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมได้ (recurrent tumor)” นพ.สมราช กล่าว
นพ.สมราช กล่าวว่า ส่วนข้อจำกัดในการรักษาด้วยมีดนาโน จะไม่พิจารณาให้การรักษาในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ก้อนเนื้องอกที่อยู่ใกล้หัวใจเนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่เข้าไปจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมถึงก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 5 ซม. และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงเฉลี่ย 1.5 - 2 แสนบาท ทั้งนี้ การใช้มีดนาโนอาจใช้รักษาได้ในเนื้องอกที่เกิดขึ้นกับอวัยวะอื่น แต่ที่ รพ.ศิริราช นำมาใช้ในการรักษามะเร็งตับและตับอ่อน เนื่องจากมีรายการศึกษาทางการศึกษาได้ผลชัดเจน อีกทั้งยังมีรายงานการใช้รักษาเนื้องอกในอวัยวะอื่น เช่น ปอด ไต และต่อมลูกหมาก เป็นต้น ในอนาคต รพ.ศิริราช อาจจะมีการขยายผลขอบเขตการรักษาต่อไป