รพ.จุฬาภรณ์ ชี้ โรคมะเร็งคร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1 เผย 1 ใน 3 ของโรคมะเร็ง สามารถป้องกัน คัดกรอง และรักษาให้หายขาดได้ ห่วงสาว ๆ เขินอาย มาตรวจภายในน้อยทั้งที่ป้องกันมะเร็งได้
วันนี้ (29 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของโรคมะเร็งในประเทศไทย ว่า ข้อมูลย้อนหลังสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเดิมเข้าใจว่า คือ โรคหัวใจ แต่เมื่อปี 2553 เป็นต้นมา พบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รองลงมาคือ โรคหัวใจ และอุบัติเหตุ ซึ่งมีแนวโน้มคงที่ ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามเพศ โรคมะเร็งในผู้ชายอันดับ 1 คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด และ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ ส่วนผู้หญิงมะเร็งที่พบบ่อย คือ มะเร็งเต้านม และ มะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะสลับกันเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงของโรคมะเร็งมี 3 ข้อที่อยากให้ประชาชนได้คำนึงถึง คือ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งสามารถป้องกันได้ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งสามารถคัดกรองได้ และ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งสามารถรักษาได้
นพ.ธีรภัทร กล่าวว่า การป้องกันนั้นสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อมะเร็ง โดยเฉพาะการงดสูบบุหรี่จะสามารถป้องกันมะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพราะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก และควรออกกำลังกายเป็นประจำในลักษณะแอโรบิก การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปรุงแต่งประเภทไส้กรอก แฮม อาหารปิ้งย่าง คือ รับประทานได้บ้าง แต่ต้องไม่บ่อยเกินไป นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยด้วย เพราะเชื้อไวรัสเอชเอวี เอชพีวี หรือโรคติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเช่นกัน คนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย จึงมีความเสี่ยงมาก ส่วนมะเร็งอื่น ๆ อาทิ มะเร็งผิวหนังก็ให้เลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัด ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำ สุดท้ายป้องกันความเสี่ยงการเกิดมะเร็งด้วยการฉีดวัคซีน เช่น ไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
นพ.ธีรภัทร กล่าวว่า 1 ใน 3 ของการคัดกรอง อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจอุจจาระส่องกล้อง ควรคัดกรองเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน ก็ควรรับการคัดกรองเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป มะเร็งตับตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ตรวจการทำงานของตับอย่างน้อยปีละครั้ง สุดท้ายคือการรักษา ปัจจุบันโรคมะเร็งจำนวนหนึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ยังอยู่ในระยะแรก ซึ่งจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการคัดกรอง ทั้งนี้ การรักษาสามารถทำได้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดรุ่นใหม่ ผลข้างเคียงน้อย การฉายรังสีแบบ 3 มิติ 4 มิติ รวมถึงการให้ยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า การรักษาโดนภูมิต้านทานบำบัด ผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้ยาเคมีบำบัด
ด้าน พญ.วัสนัย ไกรสรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งนรีเวช กล่าวว่า ในส่วนของโรคมะเร็งทางนรีเวชของผู้หญิงมีหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกนั้น จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 22 - 27 คน เสียชีวิตวันละ 14 คน ส่วนใหญ่พบในช่วง 45 - 60 ปี ทั้งนี้ แม้จะเป็นโรคที่สามารป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำแต่ปัญหาคือ ผู้หญิงไทยมักจะอาย และไม่มาตรวจคัดกรอง ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มาตรวจคัดกรองค่อนข้างต่ำ แม้กระทั่งคนมีระดับการศึกษาค่อนข้างสูงก็ไม่มาตรวจภายใน