แพทย์หญิงกาญจนา อุดมชัยกุล
อายุรแพทย์ด้านโรคระบบหายใจ
โรงพยาบาลพระรามเก้า
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การสูบบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่งที่เป็น ๆ หาย ๆ และมีแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่น ๆ และให้ชื่อโรคนี้ว่าโรคติดบุหรี่ และถ้าไม่เลิกสูบบุหรี่ จะมีผู้เสียชีวิตอันสืบเนื่องกับบุหรี่ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ปัจจุบันมีบริการช่วยเลิกบุหรี่โดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ การที่ผู้ป่วยไม่ทราบ และไม่เข้าถึงการให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ทำให้คนส่วนมากเลือกวิธีการเลิกบุหรี่ด้วยตนเองแบบหักดิบ ซึ่งมีอัตราความสำเร็จต่ำและมีโอกาสกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำได้มาก
พญ.กาญจนา กล่าวว่า ควันบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ถุงลมโป่งพอง และ มะเร็ง (โดยเฉพาะมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งตับอ่อน) และยังมีผลต่อหลอดเลือดและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งผลกระทบของบุหรี่ขึ้นกับระยะเวลาที่สูบ และปริมาณบุหรี่ที่สูบต่อวัน เนื่องจากควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่มีผลต่อเซลล์ในร่างกาย และในบุหรี่ยังมีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ บุหรี่ยังมีผลต่อเด็กทารกในครรภ์ ทำให้มารดาที่ตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งบุตร คลอดบุตรที่เสียชีวิต คลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ และยังทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง บุหรี่ทำให้อายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 13.2 ปี ในผู้ชาย และ 14.5 ปีในผู้หญิง ผู้สูบบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ 25 - 30% และมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติ 20 - 30% ทั้งนี้การติดบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้
แนวทางปฏิบัติต่อผู้ป่วยจะได้รับการซักถามประวัติการสูบบุหรี่ และจะได้รับคำแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ บุคคลใกล้ชิด และลดค่าใช้จ่ายในการเสียเงินไปซื้อบุหรี่ ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความประสงค์และความพร้อมในการเลิกบุหรี่ ประเมินความรุนแรงของการติดบุหรี่ และปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้สูบบุหรี่ และจะได้รับการช่วยเหลือและบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ และจะมีการนัดติดตามอาการและผลการเลิกบุหรี่ ผู้ป่วยที่มีประวัติการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี และมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ เหนื่อยง่าย มีเสมหะมาก ไอเรื้อรัง จะได้รับคำแนะนำให้ตรวจสมรรถภาพทางปอดเพื่อค้นหาโรคระบบทางเดินหายใจ
มีข้อมูลว่าเพียง 15% จะถูกสูดหายใจเข้าไปโดยผู้สูบเอง ส่วน 85% ที่เหลือจะกระจายอยู่ในอากาศ ดังนั้น หากอยู่ในสถานที่ที่มีการสูบบุหรี่ติดต่อกัน 2 ชั่วโมง จะเทียบเท่ากับว่าสูบบุหรี่ประมาณ 4 มวน ทั้งนี้ พบว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิต 1 ใน 9 คน จากสาเหตุการสูบบุหรี่นั้นเกิดจากการสูบบุหรี่มือสอง แม้ว่าจะไม่เป็นผู้สูบบุหรี่เองก็ตาม แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็จะทำให้เป็นผู้สูบบุหรี่มือสองได้ และอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติ เด็กที่พ่อแม่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และฟันผุมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ