ศิริราชฟุ้งรักษา “มะเร็งเต้านม” เทียบเท่ามาตรฐานระดับโลก เปิดสถิติการรักษาพบโอกาสรอดชีวิตระยะ 5 ปี และ 10 ปี สูงกว่า “อังกฤษ” และค่าเฉลี่ยระดับโลก เล็งพัฒนา “เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด” รักษากลุ่มผู้ป่วยหมดทางรักษา คาด 2 - 3 ปี ใช้ทดลองกับผู้ป่วยได้จริง
วันนี้ (9 ม.ค.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมสำเร็จเทียบเท่ามาตรฐานโลก” ว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย โดยคร่าชีวิตคนไทยปีละกว่าหมื่นราย ซึ่งภาคกลางพบมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนระดับจังหวัด คือ กทม. รองลงมาคือ ระยอง สาเหตุคาดว่ามาจากการใช้ชีวิตท่ามกลางมลภาวะ โดยเฉพาะเมืองอุตสาหกรรม รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย มีความเครียด กินอาหารไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารที่เน้นไขมัน ขาดไฟเบอร์หนักแบบคนตะวันตก ทั้งนี้ รพ.ศิริราช เห็นความสำคัญของโรคนี้จึงมุ่งพัฒนาแนวทางการดูแลรักษามะเร็งเต้านมแบบครบวงจรโดยวิธีการที่ทันสมัย โดยตั้งเป้าหมายว่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะต้องเอาชนะมะเร็งเต้านมให้ได้ โดยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก หรือระยะที่ 0-1 ต้องมีอัตราการรอดชีวิตเท่ากับ 100% ผู้ป่วยระยะที่ 2 และ 3 มีอัตราการรอดชีวิตเกินกว่า 90% และ 80% ตามลำดับ
ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ รพ.ศิริราช ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546 - 2554 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 2 และ 3 ซึ่งทุกรายได้รับการผ่าตัดที่ รพ.ศิริราช และได้รับการรักษาเสริมครบตามที่วางแผน จำนวนทั้งหมด 3,435 ราย พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีโอกาสรอดชีวิตและหายขาดจากโรคอยู่ในระดับสูงเทียบเท่า หรือดีกว่ามาตรฐานระดับโลก โดยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรวมทุกระยะ มีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปี เท่ากับ 92.1% ขณะที่โอกาสการรอดชีวิตที่ 10 ปี อยู่ที่ 85.6% ซึ่งถือว่าสูงกว่าอังกฤษ ซึ่งอัตราการรอดชีวิต 5 ปี อยู่ที่ 89.6% และโอกาสรอดชีวิตที่ 10 ปี อยู่ที่ 79% รวมถึงสูงกว่าอีกหลายประเทศทั้งโลกตะวันตกและเอเชีย โดยเมื่อแยกตามระยะพบว่า ผู้ป่วยระยะที่หนึ่ง โอกาสการรอดชีวิตที่ 10 ปี อยู่ที่ 95% ระยะที่สอง 84% และระยะที่สาม 71% โดยเฉพาะระยะที่สามถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการรอดชีวิตทั่วโลก ซึ่งต่ำกว่า 50% ซึ่งความสำเร็จของผลการรักษาดังกล่าวมาจากความร่วมมือในการวินิจฉัยและดูแลรักษาแบบสหสาขา ทั้งศัลยแพทย์ด้านเต้านม แพทย์รังสีวินิจฉัย แพทย์รังสีรักษา อายุรแพทย์เคมีบำบัด พยาธิแพทย์ ทีมวิจัยด้านอณูชีววิทยา อณูพันธุศาสตร์ เภสัชวิทยา และทีมพยาบาลเฉพาะทางด้านเต้านม เป็นต้น ที่สำคัญคือ ตัวผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการรักษาและการติดตามที่ครบถ้วน
ศ.นพ.พรชัย กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ รพ.ศิริราช นำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจรักษามะเร็งเต้านมนั้น เป็นการยึดตามพระราชดำรัสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ว่า “ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ และต้องช่วยเหลือคนรวยและคนจนอย่างเท่าเทียมกัน” โดยเทคโนโลยีที่ศิริราชนำมาใช้ แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1. ด้านรังสีวินิจฉัย มีการใช้เครื่องตรวจอัลตราซาวนด์แบบอัตโนมัติ หรือ เอ-บัส ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจวินิจฉัย การพัฒนาสารฉีดสีที่ใช้ในการตรวจหาต่อมน้ำเหลืองที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก เทคโนโลยีการตรวจการแพร่กระจายของมะเร็งระดับโมเลกุลซึ่งมีความแม่นยำมากขึ้น 2. ด้านการผ่าตัด การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล การพัฒนาการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยวิธีการต่างๆ 3. ด้านรังสีรักษา การฉายรังสีระหว่างผ่าตัดเพื่อสามารถผ่าตัดแบบเก็บเต้านมได้มากขึ้น และ 4. ด้านยา มีการพัฒนาการรักษาด้วยยาเสริมหลังผ่าตัดและระยะแพร่กระจาย ทั้งยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน และยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า
ศ.นพ.พรชัย กล่าวว่า ก้าวต่อไปในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คือ เพิ่มความสำเร็จในการรักษาให้มากขึ้นในกลุ่มที่ยังตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี หรือยังไม่มีการรักษา คือ วินิจฉัยโรคให้ได้เร็วขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยระยะท้ายๆ ลง ส่วนการรักษาจะลดผลข้างเคียงจากยาลง โดยเลือกยาให้เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด ใช้ยาที่ได้ผลมากขึ้น ถ้าไม่หายก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ออกไปทำงานได้ ใช้ชีวิตร่วมกับมะเร็งอย่างมีความสุข และจะพัฒนาการรักษาวิธีใหม่ๆ คือ เพิ่มภูมิต้านทานในการฆ่าเซลล์มะเร็งประกอบการรักษาวิธีเดิมที่มีอยู่
ศ.ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส หัวหน้าหน่วยอณูเวชศาสตร์ สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และหัวหน้าเครือข่ายวิจัยนานาชาติด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง กล่าวว่า ตามปกติแล้วผู้ป่วยมะเร็งจะมีภูมิคุ้มกันลดลง ดังนั้น การเพิ่มภูมิต้านทานในการฆ่าเซลล์มะเร็ง จึงเป็นแนวทางรักษามะเร็งแนวใหม่เรียกว่า “เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด” โดยการนำเอาเซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเรียกว่า คาร์ทีเซลล์ (CAR T-cells) ซึ่งเป็นเซลล์ที่จะฆ่าเซลล์แปลกปลอม มะเร็งหรือไวรัส ออกมานอกร่างกายเพื่อกระตุ้นโดยทางพันธุวิศวกรรมศาสตร์ โดยทำให้เซลล์สามารถจดจำเซลล์มะเร็งได้โดยตรง และนำมาใส่กลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย ซึ่งการวิจัยขณะที่ในห้องทดลอง พบว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ โดยภายในปีนี้จะเข้าสู่การทดลองขั้นที่สองคือในสัตว์ทดลอง และการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันผู้ป่วยมาทดลองกับเซลล์มะเร็งที่เพาะเลี้ยงและเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยเอง โดยคาดว่าจะเข้าสู่การทดลองในผู้ป่วยได้จริงภายใน 2 - 3 ปีนี้