3 อธิบดีด้านสาธารณสุข แคนดิเดตว่าที่ปลัด สธ. เห็นด้วยแก้กฎหมายบัตรทอง ชี้ ปรับปรุงเพื่อให้การบริการจัดการดีขึ้น สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้งบประมาณให้ถึงประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ด้านคณบดีศิริราชแนะอย่าระแวงฝั่งไหนคนมากน้อย ให้ร่วมกันทำงาน จะได้รับบสุขภาพที่ดีที่สุด
วันนี้ (20 มิ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายบัตรทอง ว่า กฎหมายบัตรทองเดิมใช้มานานกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประเทศ อย่างไรก็ตาม ควรมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบริการแก่ประชาชน ซึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมป้องกันโรค ได้แก่ การใช้งบส่งเสริมป้องกันโรค และการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบริการด้านการป้องกันควบคุมโรค กล่าวคือ การใช้งบส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้งบประมาณได้เฉพาะผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมป้องกันโรคของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้ชุมชนเป็นฐานสำคัญ (community health) ในการดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรค ส่วนการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ ปัจจุบันมุ่งเน้นที่ผู้รับบริการเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ครอบคลุมบุคคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงาน เช่น บุคลากรที่ติดเชื้อวัณโรค จากการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นต้น
นพ.เจษฎา กล่าวว่า สธ. สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ในการจัดระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประเทศให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับสิทธิการให้เป็นบริการสาธารณสุขพื้นฐานที่จำเป็น ส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ครอบคลุมทั้งการตรวจคัดกรองโรค การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เป็นต้น โดยบริการดังกล่าวต้องจะสอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการ และคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญ เช่น การพิจารณาวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานตามแผนการให้วัคซีนของประเทศ (EPI Program) ก็จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกรมควบคุมโรค เป็นต้น เสียก่อนจึงจะกำหนดอยู่ในชุดบริการด้านการส่งเสริมป้องกันโรค
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กฎหมายบัตรทองมีการใช้มานาน และหลายอย่างเป็นอุปสรรค ไม่เอื้อต่อการรักษาคนไข้อย่างเต็มที่ อย่างที่ผ่านมาเรื่องการรวมเงินเดือนบุคลากรเข้ากับงบเหมาจ่ายรายหัว โดยภาพรวมดูเหมือนเป็นก้อนใหญ่ แต่พอหักค่าตอบแทนออกไปแล้วเหลือไม่มาก ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ การแยกเงินเดือนออกจึงถือว่าเหมาะสม เพราะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน ส่วนเรื่องสัดส่วนบอร์ด สปสช. ตนคิดว่าคณะกรรมการต่างก็มีวิจารณญาณ มีเหตุผลในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ไมใช่จะเอาผลโหวต และอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นปัญหา เบื้องต้นได้ทำความเข้าใจกับร่าง พ.ร.บ. ใหม่ และเข้าไปร่วมในการประชาพิจารณ์เวทีกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ก็เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ. ซึ่งยืนยันว่า จะเข้ามาช่วยเสริม ส่วนที่บอกว่าประชาชนจะเสียสิทธิ เป็นผู้ป่วยอนาถา หรือภาคประชาชนจะถูกลิดรอนสิทธิ เป็นเรื่องเข้าใจผิดทั้งหมด ยืนยันว่าประชาชนไม่เสียสิทธิใดๆ
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับปรุง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ เนื่องจากใช้มานาน 15 ปี แน่นอนว่า ทุกคนเห็นตรงกันว่ามีจุดดี แต่ก็มีจุดที่ต้องปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ต้องปรับปรุงในประเด็นเรื่องงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากปี 2560 ใช้งบด้านนี้จำนวนกว่า 300 บาท ต่อหัวประชากร ซึ่งเดิมงบก้อนนี้จะส่งไปยังหน่วยบริการ หรือ รพ.ต่างๆ ปัญหา คือ ไปไม่ถึงชาวบ้านอย่างเพียงพอ เนื่องจาก รพ. ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เมื่อได้รับงบก้อนนี้ทำให้มีการนำไปใช้จ่ายภายใน รพ. ขณะที่การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคมีการทำเช่นกัน เพียงแต่อาจไม่เต็มที่มาก เพื่อความชัดเจน ในการปรับปรุงกฎหมายในประเด็นดังกล่าวไม่ได้พูดรายละเอียดมากนัก ซึ่งน่าจะเพิ่มช่องทางว่า ควรใช้งบให้ถูกจุดโดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำและจะออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้การใช้งบด้านนี้ตรงจุด และไม่เกิดความซ้ำซ้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกกองทุนสุขภาพตำบล กองทุนยังคงมีอยู่ แต่ควรเพิ่มช่องทางการบริหารจัดการดังกล่าวให้ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อธิบดีทั้ง 3 กรมล้วนเป็นหนึ่งในรายชื่ออธิบดีที่ถูกจับตาว่าจะได้ขึ้นมาเป็นปลัด สธ. แทน นพ.โสภณ เมฆธน ที่จะเกษียณอายุราชการในช่วง ปลาย ก.ย. นี้
ศ.นพ.ประสิทธ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ในฐานะคณบดีศิริราชพยาบาลและนายกแพทยสภา ระบบบริการสุขภาพที่ดีจำเป็นที่ผู้บริหารประเทศ ผู้ให้บริการสุขภาพ และผู้รับบริการสุขภาพจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างระบบด้วยกัน เพราะจะเกิดการทำงานประสานกันโดยปลอดความระแวง พ.ร.บ. ที่กำลังจะออกในเวลานี้ต้องได้รับความเห็นจากทั้งสามฝ่าย แต่อย่าเป็นกังวลไปก่อนว่าฝั่งนั้นมาก ฝั่งนี้น้อย จะทำให้เกิดความระแวง อยากให้ทุกคนมาร่วมสร้างระบบ เป็นการวางระบบให้กับประเทศ เพราะฉะนั้นเรายินดีรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการ จุดสมดุลของทั้งสามฝ่ายจะเป็นจุดที่ทำให้ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ดีที่สุด ส่วนที่ระบุว่าแก้กฎหมายแล้วประชาชรนเสียประโยชน์ ต้องบอกว่า ทุกคนต้องเห็นข้อมูลเหมือนกัน เห็นว่าระบบให้บริการด้านสุขภาพเวลานี้เป็นอย่างไร ก่อนที่จะบอกว่าจะเสียผลประโยชน์ ถ้าเราเห็นด้วยกัน เข้าใจการมาถกเถียงกันจะง่ายขึ้น แพทยสภาเองจะดำเนินการในส่วนที่ทำให้ประชาชนเข้าใจการบริการสุขภาพในเวลานี้ ยืนยันว่าเป้าหมายการดำเนินการของแพทยสภาต้องการให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมาตรฐาน ทั้งนี้ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ถ้าเราเปิดใจแล้วฟังกันอย่าเพิ่งบอกว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่เอาข้อมูลมาคุยกัน สิ่งนี้เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยได้ ที่ผ่านมา เราพูดกันเยอะถึงความรู้รักสามัคคีที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้กันพวกเรามา ถ้าเรายึดหลักตรงนี้มาใช้เพื่อนับฟังกันพูดคุยกันจะได้รับระบบสุขภาพที่ดีที่สุด