แพทย์มะเร็ง จุฬาฯ เผย องค์การอนามัยโลกยกย่อง “ไทย” จัดการมะเร็งได้ดีที่สุด ชี้ ปัจจัยความสำเร็จคือกลไกการต่อรองราคายา
ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง กล่าวว่า หลักการของแพทย์ทุกคน ก็คือ ต้องการรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด ส่วนตัวเป็นแพทย์รักษาโรคมะเร็งที่สามารถทำตามเป้าหมายนั้นได้ แต่ก็ยังมีแพทย์อีกบางส่วนที่ต้องการรักษาคนไข้ให้หายเช่นกัน แต่สาเหตุที่ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากโรงพยาบาลมีข้อจำกัด
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า คำถามก็คือแล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาเหมือนกันหมด ยกตัวอย่างในอดีตยามะเร็งในเด็กที่ราคาแพงมาก หากมีเงินจ่าย 3 แสนบาท ผู้ป่วยจะมีโอกาสรักษาหายขาดได้ถึง 80% แต่ถามต่อว่าชาวบ้านจะมีเงินจ่ายหรือไม่ จนกระทั่งมีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นมา มีระบบการส่งต่อและตามจ่ายก็พบว่าเกิดปัญหาโรงพยาบาลต้นสังกัดไม่ยอมส่งต่อ เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลแพงถึงหัวละ 3 แสนบาท
“ถ้าจะรักษาด้วยวงเงิน 1 แสนบาท อัตราการรอดชีวิตจะอยู่เพียง 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด นั่นคือ ความไม่คุ้มค่า จนกระทั่งมาถึงปี 2551 มีการขายไอเดียเรื่องมะเร็งเด็กให้กับ สปสช. เพื่อสร้างมาตรฐานการรักษาให้เหมือนกันทุกโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลใดรักษาตามเกณฑ์นี้ก็จะได้เงินจาก สปสช. นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กไทยได้รับการรักษาเหมือนกันหมด” ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า ในส่วนของมะเร็งผู้ใหญ่ เมื่อพูดถึงโรคมะเร็งมีมากถึงหลายร้อยโรค ซึ่งทั้งหมดรักษาไม่เหมือนกัน และโอกาสหายจากโรคก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น ในการดูแลมะเร็งจึงให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการรักษา ส่วนตัวได้คุยกับ สปสช. ว่า เราไม่ได้รักษาทุกโรค เพราะนั่นเป็นการหาเสียงของรัฐบาลยุคนั้น แต่เราต้องมีหลักประกันให้กับทุกคน อะไรที่รักษาได้ก็รักษา อะไรที่รักษาไม่ได้ก็ไม่ต้องรักษา เพราะต้องยอมรับว่ามีโรคที่ถึงจะจ่ายหนึ่งแสนหรือหนึ่งล้าน ก็ต้องตายอยู่ดี โดยโรคใดที่รักษาได้หรือรักษาไม่ได้ จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญประเมิน ภายใต้หลักการคือทุกคนต้องมีหลักประกันและเข้าถึงบริการ
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า เป็นประเทศที่จัดการโรคมะเร็งได้ดีที่สุด สำหรับเหตุผลที่ WHO ชื่นชม ประกอบด้วย 1. ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษามะเร็งทั้งหมด 2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่ำมาก 3. ประชาชนเข้าถึงยารักษาได้อย่างแท้จริง โดยความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะเรามีสถิติและข้อมูลทะเบียนราษฎรที่แข็งแรง มากไปกว่านั้นก็คือ มีแนวทางและมาตรฐานการรักษาว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ WHO ให้ความสนใจกับการได้มาซึ่งยา
“เรามีระบบการต่อรองราคายารวม ซึ่งทำให้ราคายาลดลงมาได้จำนวนมาก โดยเฉพาะยาราคาแพงที่พบว่าประเทศที่เข้าถึงได้ คือ ประเทศที่มีความสามารถในการต่อรองราคายาเท่านั้น ซึ่งหลายประเทศยังไม่กล้าทำ ประชาชนของเขาจึงเข้าไม่ถึงยา” ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว