xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุด ชี้ ม.มหิดลเลิกโครงการรักษาโรคบวมน้ำเหลือง ไม่ขัดหลักบริการสาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินยกฟ้องปมผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลือง ฟ้องขอ ม.มหดิล คืนโครงการรักษาด้วยวิธีภูษาบำบัดและขันชะเนาะ ชี้มีอำนาจออกประกาศยกเลิกโครงการ เหตุเป็นแค่โครงการวิจัย และพบมีผลร้ายกับผู้ป่วย และมีวิธีการรักษาอื่นที่มีมาตรฐานผ่านการรับรอง การยกเลิกจึงไม่เป็นการจำกัดสิทธิ หรือขัดแย้ง หลักการจัดทำบริการสาธารณะ

วันนี้ (19 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้ยกฟ้องในคดีที่ นางสมจิต วัชราเกียรติ พร้อมพวกรวม 33 ราย ผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลือง ยื่นฟ้องคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ขอให้เพิกถอนประกาศคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องยุบเลิกโครงการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองด้วยวิธีภูษาบำบัดและขันชะเนาะ ลงวันที่ 14 ต.ค. 2554 โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่ ม.มหิดลได้มีประกาศยุบเลิกโครงการดังกล่าวเป็นกรณีที่มีอำนาจกระทำได้ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล 2550 ประกอบข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยการบริหารงบประมาณและการเงิน 2551 ข้อ 5 และข้อ 13 ส่วนกรณีที่ประกาศดังกล่าวได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 และมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของอธิการบดีและการมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่ในเฉพาะส่วนงานนั้นได้นั้นถือเป็นเพียงการอ้างอิงบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นฐานอำนาจในการออกประกาศผิดพลาดคลาดเคลื่อนเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีผลว่าม.มหิดลไม่มีอำนาจในการออกประกาศยกเลิกโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด

ส่วนที่นางสมจิตกับพวกอ้างว่า ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้คำนึงถึงหลักการจัดทำบริการสาธารณะด้านการรักษาพยาบาลที่รัฐต้องจัดทำให้แก่ประชาชน และไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยที่เป็นผู้ฟ้องคดีที่ไปใช้วิธีการรักษาพยาบาลโดยวิธีอื่นอันเป็นการจำกัดตัดสิทะของผู้ป่วยนั้น เห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นการบริการทางวิชาการของ ม.มหิดล มีวัตถุประสงค์เป็นการวิจัย และการให้บริการตรวจวินิจฉัยและบำบัดโรคบวมน้ำเหลือง จึงไม่ใช่โครงการลักษณะถาวรหรือต่อเนื่องผูกพันการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ เพราะต้องคำนึงผลได้ผลเสียและเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ชีวิตของผู้เข้ารับการรักษา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อ ม.มหิดล ได้ทราบว่าการรักษาโรคดบวมน้ำเหลืองตามวิธีการที่โครงการได้เปิดให้บริการเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา บางรายเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกอื่นปรากฏตามรายงานองค์การแพทย์โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2554 ประกอบกับการคำนึงถึงวิธีการรักษาตามโครงการไม่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานทางการแพทย์จากแพทยสภา ผู้ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และในขณะที่พิจารณาออกประกาศยุบเลิกโครงการเป็นช่วงเวลาที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมชั่วคราวของผู้รับผิดชอบโครงการที่เป็นแพทย์ที่ทำการรักษาเพียงคนเดียวจะหมดอายุลง

จึงเห็นได้ว่า การออกประกาศยุบเลิกโครงการของ ม.มหิดลเป็นการใช้ดุลพินิจตัดสินใจบนพื้นฐานของการจัดทำบริการสาธารณะที่ต้องจัดทำให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อประชาชนผู้รับบริการสาธารณะ นอกจากนี้ การรักษาโรคบวมน้ำเหลืองยังมีวิธีอื่นอีกหลายวิธี รวมถึงวิธีการผ่าตัด ที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองอย่างถูกต้อง และปลอดภัยจากสถานพยาบาล กรณีจึงไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิของนางสมจิตกับพวกในการรักษา หรือขัดแย้งต่อหลักการจัดทำบริการสาธารณะแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น