xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รื้อคดีคลองด่าน ศาลปค.ชี้สตง.ไม่เป็นผู้ได้เสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ศาล ปค.กลาง ไม่รับคำขอ สตง. พิจารณาคดีคลองด่านใหม่ เหตุเป็นหน่วยงานอิสระตาม รธน. ไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจถูกกระทบโดยตรงจากผลแห่งคดี ชี้ช่องยื่นอุกธรณ์ศาล ปค.สูงสุดได้อีกรอบ

วานนี้ (10 พ.ย.) ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในคดีที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อ 21 พ.ย. 57 ให้กรมควบคุมมลพิษชำระค่าเสียหายในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมูลค่า 9,058,906,853.61 บาทให้กับบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และพวกรวม 6 ราย ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ทั้งนี้ สตง.ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวใหม่ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 59 โดยอ้างว่าเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีภารกิจดูแล ตรวจสอบ การใช้จ่ายเงินของหน่วยงานรัฐ และปกป้องรักษาเงินของแผ่นดินไม่ให้ถูกนำไปเป็นประโยชน์ของผู้ไม่สุจริต จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระเงินของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐร่วมกับเอกชนสมคบกันทุจริตจัดทำข้อตกลงหรือสัญญาในโครงการโดยมิชอบ ทำให้รัฐเสียหายต้องจ่ายค่าที่ดินที่มีการออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และค่าก่อสร้างจำนวนมาก โดยไม่สามารถดำเนินการโครงการได้สำเร็จ การที่ศาลปกครองสูงสุดให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งเกิดจากสัญญาโดยมิชอบ ทำให้รัฐและประชาชนเกิดความเสียหาย ต้องนำเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศมาใช้ ประกอบคดีนี้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ได้ดำเนินการมาแล้วในคดีนี้ก็ขัดกับบทบัญญัติมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (2) ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อนุญาโตตุลาการ 2545 ซึ่งอยู่ในอำนาจที่ศาลปกครองจะเพิกถอนและทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้ โดยการพิจารณาคดีใหม่จะเป้นการช่วยปกป้อง คุ้มครอง เงินทางราชการ ถือเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ส่วนร่วมของรัฐ

ส่วนเหตุที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่า สตง.เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าหน้าที่ตรวจสอบการเงินของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรับธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ประกอบกับเหตุผลที่อ้างในการยื่นนั้นยังไม่อาจถือได้ว่า สตง.เป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจจะถูกกระทบโดยตรงจากผลแห่งคดี ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองรับไว้พิจารณาทั้งนี้ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา

ทั้งนี้ นายสมชาย งามวงศ์ชน โฆษกศาลปกครอง ได้กล่าวชี้แจงว่า จากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอพิจารณาคดีที่ สตง.ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษคลองด่านใหม่นั้น คำสั่งของศาลปกครองกลางในชั้นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด โดย สตง. ยังมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง.

ส่วนที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคดีนั้นถึงที่สุดที่ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนให้ กรมควบคุมมลพิษ ( คพ.) เป็นผู้ชำระเงินกับบริษัททั้งหกนั้น นายสมชาย โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ถ้าภายหลังศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งรับคำขอพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่ คดีก็จะกลับเข้ามาสู่การพิจารณาคดีใหม่ของศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งคำพิพากษาที่ให้ คพ.ชำระเงิน ก็อาจจะขอทุเลาไปก่อนได้ แต่ตามหลักระหว่างนี้ จะต้องปฎิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ คพ. เป็นผู้ชำระเงินตามสัญญา หากยังไม่ชำระภายหลังก็จะต้องเสียค่าปรับการชำระล่าช้า
กำลังโหลดความคิดเห็น