xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชพักการเรียน “นศ.แพทย์” ฆ่าหมาหวังประกัน พบปัญหาจิตใจตั้งแต่ปี 3 ชี้หากโดนอาญาให้พ้นสภาพ นศ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศิริราชพักการเรียน “นศ.แพทย์” ปมวางยาหมาเอาเงินประกัน จนกว่าสอบสวนสิ้นสุด พบมีปัญหาทางจิตใจตั้งแต่เรียนปี 3 มีอาการย้ำคิดย้ำทำ แต่มีอาการมากจนต้องพักการเรียน 3 ครั้ง ในช่วงเรียนปี 6 ชี้ หากอาการป่วยรุนแรง จะให้พ้นสภาพนักศึกษา หรือหากมีความผิดทางอาญาจะให้พ้นสภาพด้วยเช่นกัน

วันนี้ (11 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกอำนวยการ รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวกรณีนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 ถูกกล่าวหาวางยาฆ่าสุนัขเพื่อเรียกร้องเอาเงินประกัน หลังจากที่เมื่อช่วงเช้าได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับนักศึกษาคนดังกล่าวพร้อมพ่อแม่ ว่า จากการประชุมคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล วาระพิเศษ เมื่อเวลา 11.30 - 13.00 น. มีมติคือ ให้นักศึกษาแพทย์ที่ถูกกล่าวหาพักการศึกษาตั้งแต่บัดนี้จนกว่าผลการตัดสินจะสิ้นสุด โดยการสอบสวนนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางจริยธรรมกับนักศึกษาดังกล่าว หากประเมินแล้วมีผลตัดสิน ว่า มีความผิดทางจริยธรรมจริง ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะดำเนินการส่งเรื่องไปยัง ม.มหิดล เพื่อดำเนินการต่อไป ตามเกณฑ์ความผิดด้านจริยธรรม ซึ่งมีโทษหลายระดับสูงสุดคือการพ้นสภาพนักศึกษา

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า คณะฯ จะเฝ้าติดตามการรักษาปัญหาด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด หากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจได้รับการประเมินว่า มีความรุนแรงขัดต่อการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ ก็จะเสนอมหาวิทยาลัยมหิดลพิจารณาพ้นสภาพนักศึกษา และจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าของกระบวนการยุติธรรม หากมีผลทางอาญาเป็นที่สิ้นสุดและมีความผิด ก็จะเสนอ ม.มหิดล ให้พิจารณาให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาด้วย ซึ่งหากกระบวนการใดสิ้นสุดก่อนก็จะดำเนินการตามนั้น ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระบวนการดังกล่าวดำเนินการด้วยความละเอียด รอบคอบแก่ทุกฝ่าย โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักกระบวนการยุติธรรม

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า นักศึกษาแพทย์คนดังกล่าวมีปัญหาทางด้านจิตใจ โดยมีอาการย้ำคิดย้ำทำ ค้นพบตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งอาการย้ำคิดย้ำทำไม่ได้รุนแรง และไม่ได้กระทบคนอื่น ซึ่งก็พิจารณาแล้วว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน และไม่ขัดต่อการดำเนินงานทางวิชาขีพ แต่ก็มีการติดตามดูแลมาเป็นระยะว่าจะกระทบต่อการดำรงวิชาชีพหรือไม่ ซึ่งมามีปัญหาเมื่อตอนเรียนชั้นปีที่ 6 จึงต้องให้หยุดพักการเรียนเป็นช่วงๆ รวมทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงที่นักศึกษาคนดังกล่าวพักการเรียนอยู่ ทั้งนี้ จากการเชิญนักศึกษาและพ่อแม่มาให้ข้อมูลรายละเอียด ซึ่งนักศึกษาก็ให้ข้อมูลตรงไปตรงมา เล่าเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไร แต่พบว่ามีบางส่วนที่ไม่ตรงกับที่สื่อสื่อออกมา ทั้งนี้ คงต้องรอผลการสอบสวนจากคณะกรรมการ ซึ่งพยายามจะดำเนินให้เร็วที่สุด แต่จะไม่ด่วนสรุปในตอนนี้ว่าเป็นอย่างไร ถ้าทำเร่งด่วนเกินไป สุดท้ายตัดสินบทสรุปลงโทษอะไรมีขัดแย้งทีหลัง เราอาจเสียใจเพราะตัดสินใจอนาคตใครไปสำหรับการออกมาแถลงข่าวครั้งนี้ได้รับการอนุญาตจากนักศึกษาและผู้ปกครองแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องเกณฑ์การพิจารณาที่จะไม่ให้จบเป็นแพทย์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า คณะมีกระบวนการในการติดตามให้แน่ใจว่า แพทย์ที่จะจบออกมานั้นสามารถดูแลผู้ป่วยได้ ไม่ใช่มีความรู้อย่างเดียว ต้องรวมจิตใจด้วย ที่ผ่านมา มีกระทั่งนักเรียนสอบผ่านข้อเขียน พอสัมภาษณ์ก่อนเริ่มเรียน สภาพจิตใจไม่พร้อมก็ไม่รับมาเรียน และระหว่างเรียนก็มีคณะกรรมการติดตาม เพราะระหว่างเรียนก็จะพบว่ามีความเครียด ซึ่งหากมีมากก็อาจให้มีการพักเป็นช่วงๆ และเมื่อจัดการความเครียดได้ดีขึ้นก็สามารถกลับมาเรียนใหม่ได้ แต่หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดและขยายวงออกไป ถ้ารักษาไม่ได้ก็สิ้นสุดการเป็นนักศึกษา แต่ที่ผ่านมา เครียดรุนแรงถึงขั้นให้ออก ถือว่ามีไม่มาก ยืนยันว่า หากไม่เหมาะสมก็จะไม่ปล่อยให้จบออกไป ทั้งนี้ ความเครียดเกิดจากหลายสาเหตุไม่ได้เกิดแค่จากการเรียนแพทย์อย่างเดียวเท่านั้น ส่วนโรคที่หากเป็นรุนแรงแล้วขัดต่อวิชาชีพแพทย์ เช่น โรคจิตเภท

เมื่อถามถึงสภาพจิตใจของนักศึกษา ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เท่าที่ได้คุยกัน นักศึกษาเขาก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้ศิริราชเสียชื่อเสียง ไม่อยากให้วิชาชีพแพทย์เสียศรัทธาจากประชาชน ซึ่งเจ้าตัวเองยังคิดว่าเขาน่าจะกลับมาศึกษาได้ แต่ไม่ได้อยู่ที่เจตจำนง อยู่ที่เราพิจารณาความเหมาะสม ทั้งนี้ จากสิ่งที่ทำไปหากกระบวนการตัดสินสรุปว่าผิดต้องโทษอาญา ตัวเขาก็ยินดีรับ และไม่มีการอุทธรณ์

เมื่อถามถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องแรงจูงใจขอให้เป็นเรื่องคณะกรรมการสอบสวน ข้อมูลบางส่วนมีการขัดแย้งกัน ซึ่งการสอบถามเมื่อเช้าก็เป็นการคุยระยะสั้น จึงต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนที่ต้องเอาหลักฐานมาคุยกัน ถามความรู้สึกอย่างเดียวไม่ได้

นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เรื่องการเจ็บป่วยของนักศึกษาจะไม่มีการพูดชื่อโรค แต่ทราบว่ามีปัญหาทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่ปี 3 แต่เป็นน้อย ยังสามารถเรียนได้ตามปกติถึงปี 4 - 5 แต่ปัญหาที่เริ่มเป็นเยอะตอนเรียนปี 6 คือ ช่วงปี 2558 ส่วนความกังวลเรื่องการดูแลผู้ป่วยตอนเรียนชั้นคลินิกนั้น เรามีมาตรฐานและดูแลอยู่ในสายตาของแพทย์ประจำบ้านและอาจารย์แพทย์ตลอด ซึ่งหากผ่านเกณฑ์ตามหลักเกณฑ์ก็ผ่านรายวิชานั้นไปได้ ซึ่งตอนปี 6 พบว่า มีการประเมินไม่ผ่านในบางรายวิชา โดยพบว่าเกิดจากจิตใจ เลยต้องหยุดการศึกษาเป็นระยะ เมื่อดีขึ้นก็มีการปฏิบัติเพิ่มเติมในรายวิชาที่ไม่ผ่าน โดยวิชาสุดท้ายที่ยังไม่ผ่าน คือ อายุรศาสตร์ จึงยังไม่สามารถขึ้นปฏิบัติงานเรียนวิชานี้ได้ ส่วนการเรียนนั้นให้ระยะเวลาถึง 12 ปี เป็น 2 เท่าของระยะเวลาการเรียนตามหลักสูตร





กำลังโหลดความคิดเห็น