xs
xsm
sm
md
lg

“รพ.ราชวิถี” จัดซื้อยาพิเศษแทนทั้งประเทศ ไม่ผิด กม.ไม่ขาดยาแน่ เซตห้องทำงานวางระบบแบบ สปสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ย้ำ “รพ.ราชวิถี” ตัวแทน รพ. จัดซื้อยาโครงการพิเศษทำได้ตามกฎหมาย เผย เซตห้องทำงานด้านจัดซื้อยาแล้ว ระบบเหมือน สปสช. ทั้งหมด คาด เปิดทำงานได้ในสัปดาห์หน้า พร้อมชวนเอ็นจีโอร่วมติดตามการทำงาน เผย ยาเอดส์ขาดมาจากการจัดส่งของผู้ขาย ไม่เกี่ยวกับการเตรียมเปลี่ยนหน่วยงานจัดซื้อ

จากกรณี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษปี 2561 และให้ รพ.ราชวิถี เป็นตัวแทนหน่วยบริการในการจัดซื้อยากลุ่มพิเศษ เช่น ยาบัญชี จ.2 ยาต้านพิษ ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มเอ็นจีโอออกมาคัดค้าน ว่า ไม่สามารถทำได้และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยขาดยาแคลนยา

วันนี้ (31 ส.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดประทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวกรณีดังกล่าว ว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณเครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มเอ็นจีโอที่แสดงข้อห่วงใยต่างๆ ในการใช้กลไกใหม่ในการจัดซื้อยาโครงการพิเศษ ซึ่งเข้าใจดีว่าเมื่อเป็นระบบใหม่อาจจะไม่คุ้นชินและมีความกังวล ซึ่งอยากให้เข้ามาเสนอว่า มีข้อกังวลอะไรอีกบ้าง จะได้ทำเป็นบันทึกไว้เพื่อเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ตาม กลไกใหม่ดังกล่าวไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมาเริ่ม แต่มีการเตรียมความพร้อมมานาน 2 - 3 เดือน หลังจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ยืนยันชัดเจนว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สามารถจัดซื้อได้ตามกฎหมาย จนกระทั่งออกมาเป็นมติบอร์ด สปสช. ดังกล่าวให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อ และให้ รพ.ราชวิถี เป็นตัวแทนหน่วยบริการในการจัดซื้อ ซึ่งทาง สตง. ซึ่งเป็นผู้ดูแลระเบียบก็ยืนยันชัดเจนว่า สามารถทำได้ จึงไม่ต้องกังวลว่ากฎหมายไม่รองรับ และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ยืนยันว่า ของใหม่จะต้องดีกว่าของเดิม ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการขาดยาขึ้น ผู้ป่วยต้องเข้าถึงยาได้เหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม

นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีการประสานกับ รพ.ราชวิถี ในการเตรียมความพร้อมระบบการจัดซื้อยาแบบใหม่ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงประกาศ เนื่องจากการจัดสรรงบต่างๆ ต้องมีประกาศรองรับที่ชัดเจน การโอนงบประมาณให้ รพ.ราชวิถี จัดซื้อก็เช่นกัน สำหรับแผนการจัดซื้อนั้นเดิมทีก็จะแบ่งการจัดซื้อเป็นงวดๆ โดย 1 ปีก็มีการจัดซื้อประมาณ 3 - 4 งวด เพื่อให้มียาพอใช้ตลอดทั้งปีและยามีอายุยาว เพราะหากซื้อมาครั้งเดียวยาก็จะมีอายุสั้น ซึ่งแผนการจัดซื้อเหล่านี้ก็มอบให้กับ รพ.ราชวิถี เช่นกัน จึงไม่ต้องกังวล โดยหากสำนักงบประมาณโอนงบประมาณมายัง สปสช. ก็จะโอนงบต่อไปยัง รพ.ราชวิถี เพื่อจัดซื้อยาตามแผนในแต่ละงวด ซึ่งนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 ซึ่งจะเริ่มปีงบประมาณ 2561 ช่วงที่ยังไม่ได้รับงบประมาณที่จะให้ รพ.ราชวิถี จัดซื้อ หากมีปัญหายาไม่พอ สปสช. ก็ยังมียาสำรองไว้ ขณะที่ อภ. ก็พร้อมช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดยาขาดเช่นกัน

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า การจัดซื้อยาแทบไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม เพียงแต่แค่เปลี่ยนหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อจาก สปสช. มาเป็น รพ.ราชวิถี แต่แผนการจัดซื้อยาก็ยังเหมือนเดิม และดีขึ้นเพราะมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมรับทราบ โดยเฉพาะหน่วยบริการเพื่อที่จะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างผู้ที่จะต้องใช้หน้างานจริงและผู้ที่ต้องวางแผนจัดซื้อ ที่สำคัญ สปสช. ก็ยังอยู่ในคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อฯ ส่วนที่กำหนดเป็น รพ.ราชวิถี เป็นตัวแทนหน่วยบริการจัดซื้อ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านการจัดซื้อจำนวนมากๆ และสอดคล้องกับกฎระเบียบกติกาในการมอบอำนาจ เพราะการจัดซื้อของ สปสช. ไม่เหมือนกับ รพ. ทั่วๆ ไป ที่อยู่ประมาณ 50 - 100 ล้านบาท แต่อยู่ที่ระดับกว่าพันล้านบาท ก็ต้องเลือกโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่จะสามารถโอนเงินในการจัดซื้อได้

เมื่อถามถึงกรณีเครือข่ายผู้ป่วยกังวลเรื่องการขาดยา นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ที่มีปัญหาคือ ยาต้านไวรัสเอชไอวีตัวหนึ่ง ที่เดิมทีผู้ป่วยได้รับยาที่ใช้ได้นานประมาณ 3 เดือน แต่ประสบปัญหาไม่ค่อยพอโรงพยาบาลหลายแห่งก็จ่ายเพียง 1 เดือน ซึ่งปัญหานี้มีมากว่า 4 - 5 เดือนแล้ว ซึ่งเกิดจากทางผู้ขายยาที่ประสบปัญหาเรื่องการจัดส่งยา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเปลี่ยนหน่วยงานในการจัดซื้อ ทั้งนี้ ทางเอ็นจีโอสามารถเข้ามาติดตามประเมินผลการดำเนินงานได้ หรือเข้ามาร่วมตรวจรับยา การพิจารณาราคา

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ขณะนี้ก็รอคำสั่งลงมาอย่างเป็นทางการ แต่ รพ. ก็มีการเตรียมความพร้อม อย่างเรื่องสถานที่ก็มีการจัดห้องๆ หนึ่งไว้เป็นสำนักงานในการดำเนินการเรื่องของการจัดซื้อ ที่ต้องทำร่วมกันกับ อภ. สปสช. และ สธ. ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถเปิดห้องทำงานได้ ซึ่งการเบิกจ่ายยาก็ใช้โปรแกรมเดิมเหมือนที่ สปสช. เคยดำเนินการ เพียงแต่ยกทั้งหมดมาไว้ที่ห้องดังกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น