xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ป่วยท้วงจัดซื้อยาผ่าน รพ.ราชวิถี ให้ถามกฤษฎีกาก่อน รมว.สธ.ยันกฤษฎีกาแนะนำเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้ป่วย บุก สปสช. ท้วงจัดซื้อยารวมแบบใหม่ผ่าน รพ.ราชวิถี ไม่ชัดเจนเรื่องกฎหมาย ขอกฤษฎีกาตีความก่อน หวั่นชีวิตผู้ป่วยกว่า 4 แสนคน แขวนบนเส้นด้าย รมว.สธ. ย้ำ ทำตามข้อเสนอ สตง.- กฤษฎีกา ทำถูกกฎหมายแล้ว

วันนี้ (30 ส.ค.) เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นำโดย นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และ นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และตัวแทนเครือข่ายอีกกว่า 30 คน เดินทางมาที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อยื่นหนังสือถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ขอให้ทำความชัดเจนทางกฎหมายของการบริหารจัดการจัดซื้อยารวม 7 ประเภท ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปีงบประมาณ 2561 และให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ สปสช. ดำเนินการต่อไปก่อน

นายธนพลธ์ กล่าวว่า ค่อนข้างกังวลถึงมติบอร์ด สปสช. เสียงข้างเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า การจัดซื้อยาร่วม 7 ประเภทดังกล่าวโดย รพ.ราชวิถี ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2561 จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของกฎหมาย ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอให้ขึ้นทะเบียน รพ.ราชวิถี เป็น เครือข่ายหน่วยบริการ จัดซื้อยาแทน แต่ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุให้เป็นการรวมตัวของหน่วยบริการกันเอง ไม่ใช่เป็นการบังคับให้ทุกโรงพยาบาลทั้งในสังกัด สธ. และนอกสังกัด สธ. ต้องมาเป็นเครือข่ายหน่วยบริการ อีกทั้งหน้าที่ของเครือข่ายหน่วยบริการตามกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดเรื่องการจัดซื้อยา ไม่เพียงเท่านั้น สตง.ยังเสนอแนะให้ สปสช.ทำผิดจากที่เคยเสนอแนะมา คือการจ่ายเงินไปก่อนที่จะเกิดบริการจริง ซึ่ง สตง. เคยชี้ว่า ทำไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีความเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฉบับใหม่ เรื่องการซื้อแทนกัน ที่ต้องรอการออกกฎกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ. ซึ่งต้องใช้เวลา หากเกิดปัญหาจะเกิดการขาดแคลนยาทั้งประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตผู้ป่วยเกือบ 400,000 คน ที่ต้องอยู่บนเส้นด้ายนี้

นายอนันต์ กล่าวว่า ขณะนี้ยีงไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่ของกฎหมาย ศักยภาพ และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการยา ขอให้รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ทำความชัดเจนทางกฎหมายด้วยการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ไม่ใช่เอาความเห็นของ สตง. ที่เป็นหน่วยตรวจสอบมาตีความกฎหมายว่า ทำได้หรือทำไม่ได้ โดยระหว่างนี้ให้เสนอ ครม. เห็นชอบให้ สปสช. ดำเนินการไปดังที่เคยเป็นมาผ่านคณะกรรมการ ที่มีการแต่งตั้งโดย รมว.สาธารณสุข จนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ สปสช. สามารถสร้างกลไกเพื่อการบริหารกองทุนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ข้อกังวลของภาคประชาชนต่อเรื่องของการจัดซื้อยาในปีงบประมาณ 2561 ที่ให้รพ.ราชวิถี เป็นผู้จัดซื้อว่าอาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. บัตรทองฉบับปัจจุบันหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่าแนวทางที่ออกมานี้เป็นคำแนะนำจาก สตง. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเข้ามาหารือในที่ประชุมบอร์ด สปสช. และมีมติร่วมกันแล้ว สามารถทำได้ และเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งแบบเดิมก็ชัดเจนแล้วว่าทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย และหากดำเนินการแล้วมีปัญหาก็ต้องมาร่วมมือช่วยเหลือกันมากกว่า ส่วนรูปแบบของการซื้อยาปีงบประมาณถัดไปก็ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. บัตรทองฉบับใหม่

กำลังโหลดความคิดเห็น