ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ภาคอีสานห่วงประเด็นการจัดซื้อยาตามการแก้กฎหมายบัตรทองยังไม่ชัดหน่วยงานใดจะรับผิดชอบ หวั่นกระทบต่อผู้ป่วยโรคไต มะเร็ง ติดเชื้อเอชไอวี อาจเสี่ยงต่อชีวิต เผยยอมรับบทบาทการจัดซื้อยาของ สปสช.ทำหน้าที่ได้เหมาะสม วอนนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ สปสช.เป็นฝ่ายจัดซื้อต่อไป
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ตลาดกรีนมาร์เก็ตขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร อ.เมือง จ.ขอนแก่น เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย เครือข่ายคนพิการ จ.ขอนแก่น, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.ขอนแก่น, ชมรมผู้ป่วยโรคไต จ.ขอนแก่น ร่วมกันจัดวงเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นการรับยาของกลุ่มผู้ป่วย “เสียงจากผู้ป่วย ขาดยาเราตายแน่” เพื่อหาทางออกประเด็นการรับยา ตามการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ยังไม่มีความชัดเจน
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า เนื่องจากปัญหาการจัดซื้อยารวมของประเทศ ณ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นคนจัดซื้อยา ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ต้องรอคำตอบจากนายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ป่วยช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงธันวาคม 2560 นี้ ที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับยา เสี่ยงต่อชีวิต เสี่ยงต่อปัญหาการดื้อยา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่จะตามมา
กรณีการจัดซื้อยาเป็นประเด็นหนึ่งในการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ที่ภาคประชาชนยังให้บทบาทของ สปสช.เป็นผู้จัดซื้อและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เนื่องจากในอดีตมีผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็น เพราะโรงพยาบาลไม่ได้สำรองยาไว้เพราะยามีราคาแพง ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีมติให้สำนักงาน สปสช.บริหารจัดการซื้อยา
พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า 10 ปีที่ผ่านมาสามารถลดปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนที่เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงยาที่จำเป็นในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง ดังนั้นประเด็นการจัดซื้อควรถูกแก้ไขในกฎหมายให้บทบาท สปสช.เป็นผู้จัดซื้อยาด้วย
ดังนั้น เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น, เครือข่ายคนพิการ จ.ขอนแก่น, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.ขอนแก่น, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ชมรมผู้ป่วยโรคไต จ.ขอนแก่น จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ได้สั่งการเรื่องนี้ด่วนหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
โดยภาคประชาชนเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้จัดซื้อยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยมีหลักประกันไม่เกิดความเสี่ยงจากการขาดยา รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา หวังว่าทางนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการโดยด่วนและจะรอการพิจารณาดำเนินการของท่าน หากไม่มีความคืบหน้าใดๆ ภาคประชาชนจะรวมตัวกันเข้าพบท่านที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป