ทีมจัดประชาพิจารณ์เตรียมเสนอทุกความเห็นต่อ 17 ประเด็นร่าง กม. บัตรทองให้ทีมยกร่าง วันที่ 30 มิ.ย. เผยประเด็น “บอร์ด สปสช.- ร่วมจ่าย - จัดซื้อยา” พูดถึงในทุกเวที ผู้คนให้ความสำคัญมากสุด ระบุ พร้อมจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นต่อ ชี้แม้กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ แต่ช่วย ครม.- สนช. รับฟังก่อนคลอด กม. บัตรทองฉบับใหม่
วันนี้ (28 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และ นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต เป็นตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อยื่นหนังสือถึง นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายบัตรทอง เพื่อขอให้จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ในประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างต่อร่างกฎหมายบัตรทอง เช่น สัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) การร่วมจ่าย ณ จุดบริการ และการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว เป็นต้น โดยมี ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ สช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณาร่างฯ
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานความคิดเห็นทั้งหมดที่มีต่อร่างกฎหมายบัตรทอง ทั้งเห็นด้วย เห็นต่าง และข้อเสนอ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 29 มิ.ย. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ในวันที่ 30 มิ.ย. โดยจะมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ด้วย ทั้งนี้ ความคิดเห็นทั้งหมดแบ่งออกเป็น 17 ประเด็น คือ ประเด็นที่นำเข้าเวทีประชาพิจารณ์ 14 ประเด็น และข้อเสนอเพิ่มเติมจากเครือข่ายภาคประชาชน 3 ประเด็น คือ 1. กรณีไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการยกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากมองว่าเพิ่มเติมนอกเหนือจากคำสั่ง ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2. ประเด็นการครอบคลุมสิทธิทุกสิทธิให้ได้มาตรฐานเดียว มีความเสมอภาคอย่างแท้จริง และ 3. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ยังไม่ได้รับการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากควรเปิดให้แสดงความคิดเห็นตั้งแต่ก่อนยกร่าง พ.ร.บ.
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า จะเสนอทุกความเห็น ข้อเห็นต่างหรือข้อเสนอก็จจะเสนอไว้ในรายงานด้วย โดยไม่มีการบอกว่าเป็นความคิดเห็นของคนส่วนน้อยหรือส่วนมาก ส่วนการนำความคิดเห็นมาปรับแก้ไขร่างกฎหมายบัตรทองหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ซึ่งหากปรับตามที่เห็นด้วยก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ไม่ปรับตามที่เห็นต่างก็จะมีการบอกเหตุผลว่าเพราะอะไร
“เบื้องต้นจากทั้ง 17 ประเด็น มีบางประเด็นที่ทุกเวทีต่างพูดถึงทั้งหมด เช่น เรื่องสัดส่วนบอร์ด สปสช. การร่วมจ่าย การจัดซื้อยา เป็นต้น สะท้อนถึงการให้ความสำคัญ ซึ่งการจัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ก็จะเป็นเรื่องเหล่านี้ที่ยังเห็นต่างหรือยังให้ความสำคัญอยู่ เพราะประเด็นอื่นๆ อยู่ในวิสัยที่พูดคุยกันได้ โดยการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นสามารถเริ่มได้ทันที เพียงแต่จะต้องมีกระบวนการเริ่มพูดคุยระดับพื้นที่ก่อนเวทีใหญ่ โดยจะไม่ได้นำเอาตัวร่างกฎหมายบัตรทองมาอิง แต่จะเอาประเด็นที่เห็นต่างเหล่านี้ เช่น เรื่องร่วมจ่าย เป็นต้น ก็จะเตรียมเอกสารทางวิชาการ และข้อเสนอต่างๆ ของประเด็นนี้มาให้คนแต่ละพื้นที่ถกเลยว่า การร่วมจ่ายในหลักประกันสุขภาพฯ คิดเห็นอย่างไร ต้องการแบบไหน ยกตัวอย่าง จะเอาระบบภาษีเท่านั้น ยินดีที่จะยอมจ่ายเพิ่ม ก็จะเป็นเสียงของทุกภาคส่วนที่ออกมาแล้วมีข้อตกลงร่วมกัน โดยไม่ยึดเสียงส่วนมากส่วนน้อย แต่จะคุยจนกว่าจะได้ข้อตกลงร่วมกันของพื้นที่นั้นๆ หรือจังหวัดนั้นๆ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการสมัชชาเวทีใหญ่ ซึ่งตัวแทนจากทุกพื้นที่ ทุกหน่วยงาน จะมาเสนอพูดคุยกัน โดยจะต้องได้ข้อสรุปในวันนั้นเลยเพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ” ผศ.ทพ.วีระศักด์ กล่าว
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า หลังได้ข้อเสนอที่ผ่านสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นแล้ว ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อผ่านความเห็นชอบก็เสนอตรงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เลย ซึ่งหากได้ข้อเสนอออกมาก่อนร่างกฎหมายบัตรทองจะผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะต้องนำข้อเสนอเหล่านี้มาพิจารณาในการปรับแก้กฎหมาย แต่ถ้าไม่ทันกับกฎหมายฉบับใหม่ ครม. ก็ต้องหาวิธีการอื่นในการที่จะปรับให้ดำเนินการตามข้อเสนอสาธารณะ เช่น ม.44 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ก็อาจส่งผลต่อการพิจารณาร่างกฎหมายของ ครม. หรือ สนช. ด้วย เพราะแม้กระบวนการอาจยังไม่เสร็จ แต่มีการเคลื่อนไหวตลอด เรียกว่าเรื่องยังไม่นิ่ง ทางฝ่ายนโยบายย่อมต้องรับฟังเสียงสะท้อนที่ออกมาจากการจัดเวทีสมัชชาฯ แน่นอน