ปลัด สธ. ยันไม่เคยส่งไลน์แจงเหตุผลแก้ กม.บัตรทอง เอื้อประโยชน์ รพ. ย้ำแก้การบริหารจัดการ ไม่กระทบสิทธิประชาชน ยัน รพ. ขาดสภาพคล่องจริง คงไม่ใช่เพราะทุจริต ผอ.รพ.น้ำพอง ชี้ รพ.ประชารัฐเพิ่ม ปชช. มีส่วนร่วม
จากกรณีกลุ่มเอ็นจีโอออกมาเปิดเผยว่า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการส่งข้อมูลทางโซเชียลมีเดียถึงเหตุผลในการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กฎหมายบัตรทอง ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาล แต่ไม่พูดถึงประชาชน
วันนี้ (26 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ตนไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวนำมาจากไหน เพราะไม่มีผู้บริหารคนใดเป็นผู้กระจายส่งเลย อย่างตนก็ไม่ได้ทำ และจากการสอบถามไปยังประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็ไม่มีการส่งข้อมูลที่กล่าวถึง อย่างไรก็ตาม เหตุผลของการแก้ไขกฎหมายบัตรทองนั้นเป็นการแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการที่จะส่งผลดีต่อประชาชน ซึ่งมีการบอกเหตุผลหลายครั้ง ข้อเท็จจริงต่างๆ มาตลอด และเชื่อว่าหากมีการพิจารณาดีๆ จะทราบว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่จะเพิ่มสิทธิให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางกลุ่มสื่อสารว่าโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องมาจากการบริหารจัดการของ ผอ.รพ. และอาจมีเรื่องความไม่โปร่งใส นพ.โสภณ กล่าวว่า หากมีการทุจริตสามารถร้องเรียนมาได้ เพราะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ที่ผ่านมา แม้จะมีก็ไม่ได้มาก และไม่ใช่การทุจริตที่ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตทางการเงินของโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ทราบดีว่าเป็นจริง มิเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบอนุมัติงบ 5,000 ล้านบาทให้ สธ. มาบรรเทาปัญหา แต่ สธ. ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภายในด้วย ทั้งรายรับรายจ่าย การใช้ยาต้องสมเหตุผล การวางแผนกำลังคน เรื่องสาธารณูปโภค ทั้งค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
“ผมยืนยันว่า กระทรวงไม่ได้เลวร้ายขนาดที่มีคนพยายามพูดกัน ส่วนใครจะพูดอะไรก็ต้องปล่อยไป เพราะผมไปบังคับให้ใครหยุดพูดไม่ได้ แต่มาดูที่เนื้องาน การทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนดีกว่า ไม่อยากตอบโต้ไปมา เราควรหันหน้ามาคุยกันทำงานโดยยึดประชาชน เพราะย้ำมาตลอดแล้วว่าการแก้กฎหมายบัตรทองก็เป็นไปตามที่มีการทักท้วง จนต้องมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 มาปลดล็อกปัญหาให้ทำงานต่างๆ หากไม่แก้กฎหมายในอนาคตหากไม่มี ม.44 ก็จะเกิดปัญหาวนเวียนอีก เพื่อความยั่งยืนก็ต้องแก้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นให้ผู้ให้บริการได้รับเงินช่วยเหลือกรณีได้ผลกระทบทางการแพทย์ หรือกรณีการจัดซื้อยา ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชน หากไม่แก้ไข” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ สธ.ผลักดันแนวคิดโรงพยาบาลประชารัฐ คือ การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของโรงพยาบาล อย่างที่เริ่มมีการดำเนินการบ้างแล้ว เช่น รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และ รพ.น้ำพอง ที่กำลังจะเริ่ม โดยให้ประชาชนร่วมบริจาคหรือร่วมสมทบคนละ 3 บาทต่อวัน หรือประมาณ 1,000 บาทต่อปี ด้วยความสมัครใจ เฉพาะคนที่สามารถจ่ายได้ แต่คนที่ไม่สามารถจ่ายได้ก็ยังได้สิทธิเหมือนเดิม ไม่มีแบ่งแยก เพียงแต่เงินส่วนนี้จะนำมาใช้ในกรณีผู้บริจาคเจ็บป่วยจนต้องนอนพัก รพ. จะได้นอนห้องพิเศษได้ฟรี และนำไปพัฒนาส่วนอื่นๆ ทั้งเรื่องคนพิการ การสร้างอาชีพ การดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน เป็นต้น ทั้งหมดถือเป็นการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งย้ำว่าไม่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง แต่เป็นโครงการที่มีการทำอยู่แล้ว คือ ไม่ว่าแก้ไขกฎหมายหรือไม่ ก็มีการทำในพื้นที่ เพราะเป็นความร่วมมือระหว่างประชาชนและโรงพยาบาล โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากพื้นที่