xs
xsm
sm
md
lg

ปมร้อนแก้ กม. “บัตรทอง” ในมุมมอง “หมออุดม” อธิการฯ มหิดล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อธิการฯ ม.มหิดล ย้ำ “บัตรทอง” ตอบโจทย์ประเทศไทย ต้องเดินหน้าต่อ หนุนแก้กฎหมายเพิ่มความยั่งยืน ชี้ ควรแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่าย รับ “ศิริราช” เจอปัญหาขาดทุนกว่าร้อยล้าน แนะทุกฝ่ายร่วมหารือยึด ปชช. เป็นที่ตั้ง อย่ามองแคต่ปัญหาตัวเอง ห่วง สปสช. ตั้งเกณฑ์รักษาเบิกเงินวิจิตรเกินไป ควรให้ผู้ให้บริการร่วมเสนอ

วันนี้ (26 มิ.ย.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายบัตรทอง ว่า ในฐานะที่ตนเคยผ่านการบริหารโรงพยาบาลมา ยืนยันว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เป็นโครงการที่ดีมาก และเป็นสิ่งที่จำเป็น ตอบโจทย์ประเทศ ดังนั้น โครงการนี้เป็นสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศและรัฐบาลต้องสนับสนุนต่อไป เพียงแต่การดำเนินการที่ผ่านมายังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นมา 15 ปีแล้ว โดยสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ เรื่องของความยั่งยืน และหลายโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีปัญหา เรื่องการขาดสภาพคล่อง แม้แต่โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ก็มีปัญหานี้

“อย่าง รพ.ศิริราช มีการขาดทุนปีละเป็นร้อยล้าน บางปี 300 ล้านบาท แต่สิ่งที่ รพ.ศิริราช โชคดี คือ มีผู้มาบริจาคผ่านมูลนิธิฯ ดังนั้น เพื่อความยั่งยืนเห็นว่า อะไรที่คิดว่าเป็นปัญหาก็ควรมีการปรับปรุงได้ ผมมองว่าเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาพูดคุยกันถึงประเด็นต่างๆ ทั้งรัฐที่ให้งบประมาณกับ สธ. และภาคประชาชน เนื่องจากบางอย่างก็ควรจะต้องปรับแก้ไข เช่น การรวมเงินเดือนบุคลากรไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ ก็ควรแยกออกมา อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายน่าจะนั่งคุยกันเอาปัญหามาพูดคุยจริงๆ ไม่งั้นก็ไม่รู้เรื่องเสียที ซึ่งผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน แต่มองจากคนที่เห็นเท่านั้น” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีโรงพยาบาลมองว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดแนวทางการรักษาต่างๆ โดยจำกัดวงเงิน ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางการรักษา ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า เป็นการตั้งเกณฑ์ที่วิจิตรเกินไป ซึ่งเข้าใจว่า สปสช. มีจุดประสงค์ดี แต่จริงๆ ต้องให้ฝ่ายผู้ให้บริการมาร่วมพูดคุยด้วย เพราะจริงๆ แล้วผู้ให้บริการก็อยากให้บริการอย่างดีที่สุด ดังนั้น เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาหากพูดคุยกันด้วยดี และเข้าใจกัน เพราะเรื่องหลายเรื่องมีมิติที่แตกต่าง ก็ต้องเข้าใจในหลายมิติ

“การขาดทุนของโรงพยาบาลต่างๆ เป็นปัญหาใหญ่ เห็นได้ชัดจากการที่รัฐบาลให้เงิน 5,000 ล้านบาท นี่คือ ปัญหาจริงๆ ซึ่งการพูดคุยกันจะช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่มองแค่ฝ่ายเดียว ต้องมองภาพรวมด้วย ซึ่งเท่าที่ผมดูการแก้ พ.ร.บ. ไม่ได้ทำให้สิทธิประโยชน์ลดลงเลย แต่แก้เรื่องกระบวนการจัดการบางเรื่อง ซึ่งเห็นว่าหากเราเอาคนไข้เป็นที่ตั้ง และอยากให้โครงการนี้ยั่งยืน และโครงการนี้ก็ทำชื่อเสียงให้กับประเทศมาก ดังนั้น เราต้องทำให้ดีขึ้น และเป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์ กรณี รพ.ศิริราชขาดทุน 400 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ศิริราชพยาบาลอยู่ที่ได้ เพราะงบประมาณแผ่นดิน และได้รับความกรุณาจากผู้ที่มีจิตอันเป็นกุศลจากเงินบริจาค ทำใสห้ศิริราชพยาบาลถึงอยู่ได้ ดูแลตนเองได้ การให้บริการของรพ.ศิริราช ก็ไม่มีการเบียดบังผู้ด้อยโอกาส
กำลังโหลดความคิดเห็น