สปสช. เขต 7 ขอนแก่น เผย สภาพคล่อง รพ. ในพื้นที่ดีขึ้น ไม่มี รพ. ใด มีวิกฤตระดับ 7 ย้ำ สธ.- สปสช. ร่วมมือแก้ไขปัญหา ย้ำ รายรับ รพ. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบบัตรทองอย่างเดียว จี้หยุดบิดเบือนข้อมูล
จากกรณีสังคมออนไลน์เปิดเผยสถานการณ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) 18 แห่งขาดทุนยับ โดยหนึ่งในนั้นคือ รพ.ขอนแก่น ขาดทุนกว่า 200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่า ที่โรงพยาบาลมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า ในปี 2559 มีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศ ติดลบทางการเงินเกือบ 200 แห่ง แต่เมื่อจัดการแก้ไขปัญหาด้วยความร่วมมือของ สธ. และ สปสช. ทำให้ปี 2560 มีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่มีปัญหา และทั้ง 2 หน่วยงานก็ช่วยกันแก้ไขอยู่แล้ว โดยการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวภาพรวมในพื้นที่ 4 จังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และ กาฬสินธุ์ ในช่วงปีงบประมาณ 2560 พบว่า 91% ของโรงพยาบาลในพื้นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากกว่า 70% ของประมาณการรายรับทั้งปี ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 ไม่มีโรงพยาบาลใดที่มีภาวะวิกฤตทางการเงินระดับ 7
นพ.ปรีดา กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลขอนแก่น หากนับเฉพาะรายรับที่ได้จากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในปี 2558 ได้รับงบประมาณ 1,658.78 ล้านบาท แบ่งเป็นงบเงินเดือน 350.73 ล้านบาท งบเหมาจ่ายจากบัตรทอง 1,308.05 ล้านบาท ส่วนปี 2559 ได้รับงบประมาณรวม 1,596.03 ล้านบาท เป็นเงินเดือน 408.09 ล้านบาท งบเหมาจ่ายจากบัตรทอง 1,187.94 ล้านบาท ปี 2560 ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณได้รับเงินไป 1,139.69 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินเดือน 396.62 ล้านบาท งบเหมาจ่ายรายหัว 743.07 ล้านบาท และคาดว่า ปีนี้โรงพยาบาลขอนแก่นจะได้รับงบประมาณทั้งหมด 1,711.88 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณจาก สปสช. เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ขณะเดียวกันที่มาของข้อมูลที่มีการกล่าวอ้างในโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่รายรับทั้งหมดของโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลมีรายได้จากกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม ประกันสุขภาพเอกชน กองทุนสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น ฯลฯ การเบิกจ่ายงบประมาณตามหลักการเรียกเก็บเงิน รวมทั้งความเที่ยงตรงและความเข้าใจตรงกันในระบบบัญชี นักวิชาการที่ออกมาวิเคราะห์ก็รู้ข้อมูลไม่จริง ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ รมว.สธ. และ ปลัด สธ. ก็แถลงข่าวความจริงให้ทราบกันแล้ว แต่ก็ยังบิดเบือนข้อมูลกันไม่หยุด
“ที่ผ่านมา 15 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลให้กับ สปสช. เพื่อนำมาจัดสรรให้กับโรงพยาบาลนั้น มักจะได้รับน้อยกว่าที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอขอไปเสมอ ทั้งที่งบประมาณที่เสนอขอไปนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลมีปัญหาหลายภาคส่วนที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลทุกแห่งก็ได้ใช้งบประมาณที่ได้รับมาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว แต่หากรัฐบาลให้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในแต่ละปีตามที่เสนอขอไปจะช่วยให้โรงพยาบาลหายใจคล่องขึ้น ไม่ตึงตัวอย่างที่เป็นอยู่” นพ.ปรีดา กล่าว