“นิมิตร์” เผย มีการส่งเอกสารแจงเหตุผลแก้กฎหมายบัตรทองถึงผู้บริหารโรงพยาบาล สธ. อ้างโดนบังคับให้ร่วมระบบหลักประกันฯ จึงต้องเพิ่มตัวแทนเข้าไปเป็นบอร์ดเพื่อร่วมบริหารจัดการ ชี้ เจตนาชัดแก้กฎหมายปกป้องผลประโยชน์ผู้ให้บริการ ไม่ใช่ประโยชน์ประชาชน หวั่นออกข้อบังคับร่วมจ่าย
นายนิมิตร์ เทียนอุดม แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่เอกสารชี้แจงเหตุผลการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ไปยังกลุ่มไลน์ของผู้บริหารโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยผู้จัดทำเอกสารนี้เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งสะท้อนเจตนาที่แท้จริงในการแก้ไขกฎหมาย ว่า ทำไปเพื่อประโยชน์ของหน่วยบริการ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน
นายนิมิตร์ กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวให้เหตุผลการเพิ่มสัดส่วนตัวแทนหน่วยบริการในระดับต่างๆ จำนวน 7 คน ให้เข้าไปเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า โรงพยาบาลในสังกัด สธ. ถูกบังคับให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถปฏิเสธเช่นหน่วยบริการภาคเอกชนได้ ดังนั้น ในภาวะจํายอมดังกล่าว จําเป็นต้องให้มีผู้แทนของหน่วยบริการภาครัฐได้มีโอกาสสะท้อนความคิดเห็น รวมทั้งมีโอกาสเข้ามาเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เพื่อมีส่วนรวมในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เอกสารดังกล่าวยังระบุด้วยว่า หากจะแยกบทบาทผู้ซื้อบริการและผู้รับบริการออกจากกันอย่างชัดเจน (Purchaser-Provider Split) จําเป็นต้องปลดล็อกให้หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถเลือกไม่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในกรณีที่ข้อเสนอของผู้ซื้อบริการไม่ดีพอ นอกจากนี้แล้ว ยังมีการระบุเหตุผลในการคงสาระสำคัญในเรื่องการร่วมจ่ายไว้ ว่า เนื่องจากสถานการณ์ด้านสุขภาพของประเทศไทยในอนาคตกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ราคาแพงและเผชิญกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้นตามลําดับ ทําให้ค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของประเทศสูงมากขึ้น ดังนั้น สําหรับผู้มีฐานะ หรือมีศักยภาพในการจ่าย คณะกรรมการอาจกําหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ ในลักษณะ “รวยช่วยจน” ให้มีเงินเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ระบบสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต
“โดยเจตนาของการเขียน คือ บอกว่าถ้าโรงพยาบาลถูกบังคับให้อยู่กับบัตรทอง ก็เลยต้องมีตัวแทนเข้าไปเพื่อไปปกป้องผลประโยชน์ของโรงพยาบาล ถ้าจ่ายในอัตราที่ไม่เหมาะสม คนที่เป็นบอร์ดก็ต้องไปท้วงติง หรือท่อนท้ายๆ ก็บอกว่าถ้าไม่ไม่ให้เพิ่ม ก็ต้องให้อิสระโรงพยาบาลว่าจะอยู่หรือไม่อยู่กับบัตรทองได้ ไม่ใช่บังคับให้อยู่ รวมทั้งประเด็นการร่วมจ่าย ตรงนี้คือเป้าจริงๆ ของการแก้กฎหมาย เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ผู้ให้บริการ แล้วจะบอกว่าแก้กฎหมายเพื่อประชาชนได้อย่างไร” นายนิมิตร์ กล่าว