เอ็นจีโอปัดขยายนิยาม “สถานบริการ” ให้รวมภาคเอกชน ไม่ใช่เอื้อพวกพ้อง ชี้ ส่งเสริมสุขภาพ รพ. ทำคนเดียวไม่ได้ จี้ ตรวจสอบ รพ. ใช้งบป้องกันโรคอย่างไร เหตุทำได้ไม่ตรงเป้า ทีมประชาพิจารณ์เผย รวมความเห็น กม.บัตรทอง ได้ 17 ประเด็น จ่อประกาศผ่านเว็บไซต์ เสนอทีมยกร่างปรับแก้ไขต่อ เดินหน้าจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น
ความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือกฎหมายบัตรทอง ภายหลังการจัดทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค และเวทีปรึกษาสาธารณะ ท่ามกลางการคัดค้านของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและกลุ่มเอ็นจีโอที่เห็นต่าง 5 ประเด็น
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้มองว่าประเด็นที่คณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ เสนอมา หรือประเด็นเห็นต่างของกลุ่มคนรักหลักประกันฯ นั้น แต่ละประเด็นต้องหาเหตุผลมารองรับว่า อะไรควรแก้ไข และอะไรที่แม้จะเห็นต่าง แต่หากจำเป็นและมีเหตุผลก็ควรเดินหน้า เรื่องนี้จึงต้องจับตาคณะกรรมการว่าจะทำงานอย่างไร ส่วนประเด็นที่เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน ต้องพิจารณาดีๆ หากให้เหมือนกันหมดต้องพิจารณา ว่า ข้าราชการมีส่วนร่วมสมทบด้วยการรับเงินเดือนน้อยและประพฤติตนภายใต้ระเบียบข้าราชการ ผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบรายเดือน ดังนั้น สิทธิบัตรทองต้องจ่ายด้วยหรือไม่ ซึ่งจะให้รัฐจัดบริการฟรีและดีด้วย ก็ต้องร่วมกันจ่ายภาษีด้วยหรือไม่ และต้องคิดว่า รัฐบาลจะเอาเงินจากไหน
พญ.เชิดชู กล่าวว่า ส่วนประเด็นการจัดซื้อยาของ สปสช. ที่มีเงินส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตนมองว่า สปสช. ไม่ควรทำหน้าที่จัดซื้อยา เพราะไม่ใช่หน้าที่ เห็นได้จากประเด็นทักท้วงของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ควรเป็นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะการซื้อยา หรือน้ำยาล้างไต ฯลฯ ควรสอบถามผู้ใช้ด้วย เนื่องจากจะทราบดีว่ายาชนิดไหนเหมาะสมกับการรักษาผู้ป่วย สำหรับประเด็นที่เอ็นจีโอออกมาพูดให้รัฐบาลตรวจสอบ แม้เรื่องจะเงียบไป แต่รัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย ควรตรวจสอบให้หมด ไม่ใช่แค่งบส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐของ อภ. แต่ควรตรวจสอบงบทั้งหมด เช่น งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระดับท้องถิ่น มีการใช้จ่ายอย่างไร งบไปที่ไหนอย่างไร เป็นต้น ที่สำคัญการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคมองว่า ควรเป็นหน้าที่ของกรมอนามัย หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้งบจำนวนมากมาทำหน้าที่ จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนทำไม
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การคัดค้านร่างกฎหมายบัตรทองไม่ได้เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง แต่เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อย่างประเด็นนิยาม “สถานบริการ” ซึ่งขอให้เพิ่ม “องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหาผลกำไร” หรือเอ็นจีโอ เป็นหน่วยงานสนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ก็ไม่ใช่เพื่อเอื้อพวกพ้อง เพราะจากประสบการณ์ทำให้ทราบว่า การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจะทำแค่ในโรงพยาบาลไม่ได้ซึ่ง ที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่า การร่วมกันทำงานก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เช่น โครงการเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี หลังสิ้นสุดงบจากกองทุนโลก สปสช. มองว่า ควรมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทำงานเชิงรุกควบคู่กับการให้ยาต้านไวรัส จึงดึงกลุ่มผู้ติดเชื้อเข้ามาร่วมทำงานกับ รพ. และกรมควบคุมโรค ในรูปแบบ “ศูนย์องค์รวม” เพื่อติดตามดูแลให้ผู้ติดเชื้อฯ กินยาต่อเนื่อง ลดปัญหาดื้อยาและอัตราเสียชีวิต โดย สปสช. ให้งบราว 20 ล้านบาท ปัญหาคือ คตร. ตรวจสอบและทักท้วงว่า ไม่สามารถให้งบบัตรทองแก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการได้ ต้องโอนงบส่วนนี้เข้า รพ.
“เมื่อโอนงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ รพ. ก็เกิดปัญหาว่า รพ. ไม่ได้ใช้งบก้อนนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะแค่ภารกิจรักษาพยาบาลก็ตึงมือแล้ว การทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นไปได้น้อย ยกตัวอย่าง งบป้องกันเอดส์กว่า 200 ล้านบาทที่ให้ผ่าน รพ. กลับพบว่า ไม่มีความพร้อมในการทำคือ 1. รพ. ให้บุคลากรทำกันเอง ไม่ก่อเกิดความร่วมมือ 2. รพ.บางแห่งให้กลุ่มผู้ป่วยทำ แต่เป็นการจ้างรายบุคคลเพียง 1 - 2 คน วันละ 80 - 100 บาท กลายเป็นลูกจ้าง รพ. ไม่เกิดการมีส่วนร่วม และ 3. รพ.แบ่งงบไปใช้ในส่วนอื่น เช่น งบทำศูนย์องค์รวม 5 หมื่นบาท ให้กลุ่มผู้ติดเชื้อทำ 2 หมื่นบาท ที่เหลือไปรวมไว้ในเงินบำรุง เป็นต้น” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาจริงๆ หรือ รพ.บางแห่ง ติดหนี้ สปสช. อย่างได้รับงบมาแล้วแต่ทำผลงานไม่ตามเป้า ไม่มีเงินคืน พอครั้งหน้า สปสช. ก็ไม่ให้งบเพิ่ม เพราะหักเงินที่ค้างตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้น งบในส่วนศูนย์องค์รวมก็หายไป โดย สปสช. บอกว่า ให้ รพ. จัดการเพิ่มส่วนนี้เอง ซึ่งที่ผ่านมารพ. ไม่มีการเพิ่ม จากประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เราไม่ไว้ใจ รพ. จึงต้องมีการคัดค้านขึ้น ดังนั้น หากจะตรวจสอบเอ็นจีโอตรวจได้เลย แต่ต้องตรวจสอบ รพ. ที่รับงบส่งเสริมสุขภาพไปด้วยว่า มีการใช้อะไรบ้าง และไปอยู่จุดไหน จะตรวจสอบทั้งทีต้องตรวจให้หมด
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมประเด็นการรับฟังความเห็นทุกช่องทางแล้ว มีประมาณ 17 ประเด็น ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการ วันที่ 29 มิ.ย. เพื่อพิจารณา และรับรองรายงานก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน พิจารณาปรับแก้ต่อไป และจะนำรายงานเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบผ่านเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สช.
นพ.พลเดช กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น น่าจะดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2561 โดยครั้งแรกจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือวงเล็กเพื่อกำหนดประเด็น และแนวทางการทำเวทีสมัชชาฯ ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้รวม 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐเข้าด้วยกัน เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 3 ฉบับ และบางเรื่องอาจจะต้องมีการวิจัยด้วย อย่างไรก็ตาม การทำเวทีสมัชชาฯ ไม่กระทบกับการเดินหน้าร่างกฎหมายบัตรทอง