xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้สุขภาพต่ำมีผลทำงบบัตรทองพุ่ง จี้ไทยมีระบบประเมิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิจัย สวรส. เผยงบบัตรทองพุ่ง อาจเอี่ยวปัญหาความรอบรู้ด้านสุขภาพของคน ชี้ คนแตกฉานต่ำป่วยเข้า รพ. มากกว่าคนแตกฉานสูง เหตุดูแลตัวเองไม่เป็น กระทบค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศ เสนอ สปช. ไทยควรมีระบบประเมินความรู้ด้านสุขภาพ พร้อมออกแบบระบบบริการรองรับคนมีความรู้ต่างระดับ ยกหมอให้คำแนะนำไทยคำอังกฤษคำ ผู้ป่วย - ญาติไม่เข้าใจ สุดท้ายปฏิบัติตัวไม่ถูก

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นำเสนอผลการศึกษา “การทบทวนสถานการณ์และกลไกการจัดการความแตกฉานด้านสุขภาพ (Health Literacy)” ในการประชุมระดมข้อคิดเห็นพัฒนาโจทย์วิจัยด้าน Health Literacy จัดโดย สวรส. ร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า Health Literacy คือ ความแตกฉานด้านสุขภาพ หรือการรู้เท่าทัน ความรอบรู้ หรือความฉลาดด้านสุขภาพ ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยทั่วโลก พบว่า ผู้ที่มีความแตกฉานด้านสุขภาพต่ำ จะมีสถิติการเจ็บป่วย การนอนโรงพยาบาล การเข้ารับบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงกว่าผู้ที่มีความแตกฉานด้านสุขภาพระดับปานกลางถึงสูง เนื่องจากมีการป้องกันและดูแลตนเองที่ด้อยกว่า ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพระดับประเทศ คือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นด้วย อย่างประเทศแคนาดา เมื่อปี 2552 ใช้เงินไปกว่า 8 พันล้านเหรียญในการดูแลประชากรที่มีความแตกฉานด้านสุขภาพต่ำ ซึ่งไทยเองขณะนี้ก็กำลังเผชิญกับค่าใช้จ่ายสุขภาพจากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่งบเหมาจ่ายรายหัวสิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวข้องกับความแตกฉานด้านสุขภาพของคนไทยหรือไม่ ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของความแตกฉานด้านสุขภาพ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการประเมินในเรื่องนี้ว่าแต่ละคนมีความแตกฉานด้านสุขภาพเป็นอย่างไร ซึ่งในออสเตรเลียรัฐบาลกลางได้จัดระบบการประเมินทักษะชีวิตและความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งรวมถึงเรื่องความแตกฉานด้านสุขภาพด้วย ทำให้เขารู้ว่าประชากรเขามีความแตกฉานในระดับใด จึงเสนอต่อ สปช. ว่า ประเทศไทยควรมีการจัดทำระบบเพื่อประเมินความแตกฉานด้านสุขภาพของประชากร

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเสนอว่าขอให้มีการออกแบบระบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับความหลากหลายของความแตกฉานด้านสุขภาพด้วย เพราะแต่ละคนมีความรู้ไม่เท่ากัน เช่น การให้คำแนะนำผู้ป่วยไปปฏิบัติ บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจว่ามีทักษะในการสื่อสารที่ชัดเจน แต่จากงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ป่วยหลังรับคำแนะนำไปนั้นไม่เข้าใจเลย และไม่กล้าถาม เช่นเดียวกับประเทศไทยก็พบว่ามีปัญหา เช่น บุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำไปปฏิบัติตัว แต่ใช้ภาษาไทยคำอังกฤษคำ ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจและไม่กล้าถาม เพราะกลัวถูกแพทย์ดุ สุดท้ายก็ปฏิบัติตัวไม่ถูก หรือการให้ข้อมูลด้านสุขภาพต่าง ๆ แก่ประชาชน บางทีให้แค่แผ่นพับใบเดียวแล้วจบ ซึ่งคนที่มีความแตกฉานสูงอ่านเพียงรอบเดียวก็เข้าใจ แต่ไม่ใช่กับคนที่มีความแตกฉานต่ำ จึงต้องมีการเลือกสื่อที่เหมาะสมกับระดับความรู้ และต้องมีการให้ข้อมูลย้ำเตือนหลายครั้ง เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น