xs
xsm
sm
md
lg

“หมอณรงค์” เข้าทำงานสำนักนายกฯ 16 มี.ค.โยนประเทศตัดสินใจจัดสรรงบบัตรทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“หมอณรงค์” พร้อมเข้าทำงานสำนักนายกฯ 16 มี.ค. เผยระบบการเงินการคลังสาธารณสุข การปรับจัดสรรงบบัตรทองต้องให้ประเทศตัดสินใจ ด้านกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวฯ เตรียมบุกยื่นหนังสือทวงถาม รมว.สธ. นิ่งเฉยบรรจุ ขรก. รอบ 3 ทั้งที่รายละเอียดเสร็จนานแล้ว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสนข้อเท็จจริง ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีใครเป็นคณะกรรมการ และยังไม่เห็นหนังสือคำสั่ง ส่วนวันที่ 16 มี.ค. นี้ จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งย้ายของนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังห่วงเรื่องการปรับเกณฑ์การจัดสรรงบรายหัวบัตรทองหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครจะมาผลักดันต่อหรือไม่ แต่ทุกคนรู้ว่าเรื่องนี้มีปัญหา เพราะฉะนั้นประเทศต้องเป็นผู้ตัดสินใจ

นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพ กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว สธ. ที่กำลังรอบรรจุเป็นข้าราชการรอบที่ 3 จำนวน 7,545 คนนั้น ได้มีการหารือร่วมกันและมีมติให้ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปยัง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงความพยายามในการผลักดันเรื่องเข้า ครม. ให้พิจารณาอนุมัติ เพราะเรื่องนี้ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ได้ทำเรื่องเสร็จมาสักระยะและเสนอให้ รมว.สาธารณสุข ไปแล้ว แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความพยายามผลักดันให้แต่อย่างใด ในขณะที่ลูกจ้างกำลังรอคอยคำตอบอยู่

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล และกรรมการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ประเด็นการโยกย้าย นพ.ณรงค์ คงไม่ขอแสดงความคิดเห็น ส่วนประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ ต้องรอให้คณะกรรมการทำงานก่อน ไม่อยากให้ความเห็น

เมื่อถามถึงประเด็นการทำงานต่อของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.อารักษ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ถ้าเคารพกติกากัน ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ทุกอย่างคงต้องยึดระเบียบ และกฎหมาย ส่วนข้อสงสัยที่กล่าวหากันไปมา ก็ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจน แต่เรื่องที่จะมีการสมยอมกันนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งการทำความจริงให้ปรากฏในกระบวนการทำงานของ สปสช. คณะกรรมการต่างๆ ก็ทำหน้าที่อยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่ประชาคมสาธารณสุข ยังยืนยันว่าจะสนับสนุนแนวทางการเงินการคลังที่ นพ.ณรงค์ เสนอนั้น ที่ผ่านมา การทำงานเรื่องดังกล่าวมีการลงมติผ่านบอร์ด สปสช. มีการทำงานผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง มีการทดลองทำตามที่ สธ. เสนอ แต่สุดท้ายข้อมูลก็ไม่เป็นไปตามที่ สธ. คิด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำต่อ

“ไม่อยากให้เอาประเด็นการทำงานมาเป็นประเด็นในการแย่งอำนาจกัน เพราะขณะนี้รัฐบาลมีเวลาจำกัดในการทำงาน การทำงานระหว่างฝ่ายการเมืองที่ไม่ใช่นักการเมืองเต็มตัว กับฝ่ายข้าราชการประจำนั้น จำเป็นต้องร่วมกันทำงานให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้” นพ.อารักษ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น