สนช. เผยรัฐบาลเพิ่มงบด้านสุขภาพน้อย แต่รายจ่าย รพ. พุ่งพรวด ชี้ รพ. ขาดทุนเกิดจากงบบัตรทองเป็นหลัก ยันตั้งสำนักงานเคลียริงเฮาส์จัดการข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ ไม่ควรให้ สปสช. ดูแล ด้านรองปลัด สธ. ชี้เกิดตระกูล ส. มาก แต่ขาดการกำกับทิศทาง เสี่ยงถูกแทรกแซงง่าย
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (กมธ.สธ.สนช.) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “ปฏิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ว่า ที่ผ่านมา งบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นน้อยมาก เห็นได้จากโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เพิ่มแห่งละ 140 บาท ใน 4 ปี แต่รายจ่ายกลับพุ่งขึ้นตลอด ทั้งเงินเดือน อัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องรัดเข็มขัดและทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด ขณะที่งบการเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2556 พบว่า ได้กำไรจากมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กรณีเงินช่วยเหลือผู้รับผลกระทบจากการบริการ เนื่องจากงบประมาณเหลือจากการไม่ได้ใช้ รวมทั้งเงินเรียกคืนจากโรงพยาบาล
นพ.เจตน์ กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลขาดทุน พบว่า เกิดจากงบบัตรทองเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่ได้กำไรจากงบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งไม่มากและไม่เพิ่มขึ้น ส่วนงบประกันสังคมมีการจำกัดมาก ส่วนข้อเสนอตั้งสำนักงานเคลียริงเฮาส์ระดับชาติ หรือ สำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.) เพื่อดูแลการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพระดับประเทศ ยังเป็นปัญหาว่า จะเป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงกับใคร ระหว่าง สธ. หรือ สปสช. โดย สธ. ไม่อยากให้ขึ้นตรงกับ สปสช. เนื่องจากไม่ไว้ใจ ซึ่ง สนช. และ สปช. ก็คิดเช่นกัน โดยอาจต้องมีคณะกรรมการที่เป็นร่มใหญ่คลุมอีกที เพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่ไม่ใช่การล้วงลูกทำงาน
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพแม้จะดีขึ้น แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจไปไม่ได้ถึงไหน และเกิดผู้เล่นใหม่ การทำงานจึงไม่บูรณาการ โดยเฉพาะการเกิดหน่วยงานตระกูล ส. ในช่วงปฏิวัติ เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สปสช. เป็นต้น และที่กำลังจะเกิดใหม่ คือ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ และ สมสส. ซึ่งการก่อกำเนิดองค์กรมากมาย โดยขาดทิศทางการกำกับ การอภิบาลระบบจะบิดเบี้ยว ถูกแทรกแซงจากอำนาจไม่ชอบธรรมได้ สธ. จึงมีหลักการแก้ปัญหา โดยแยกบทบาทผู้ซื้อบริการ ผู้จัดบริการ และผู้กำหนดและกำกับนโยบายให้ชัด
“หากอยากเห็นระบบสุขภาพที่เป็นองค์รวม การบริหารระบบบริการที่ไม่รวมศูนย์ แต่ต้องดูแลงานด้านสุขภาพของประเทศทั้งหมด ก็ควรตั้ง สธ. เป็นองค์กรดูแลงานด้านสุขภาพระดับชาติ ทำหน้าที่กำกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ ส่วนการตั้งสำนักงานเคลียริงเฮาส์ ไม่เห็นด้วยให้ไปอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะหากไปอยู่กับผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญ และคนที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เพียงกลุ่มหนึ่งอาจได้ประโยชน์ ซึ่งตรงนี้เสี่ยงมาก แต่หากมาอยู่ใน สธ. จะมีคนรู้เรื่องมากมาอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน รู้ทันกันจะดีกว่าหรือไม่ สำนักงานเคลียริงเฮาส์จึงควรอยู่ในองค์กรด้านสุขภาพระดับประเทศ เพื่อการทำงานที่ตรงจุด จึงอยากฝากให้พิจารณา” รองปลัด สธ. กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่