แพทย์ค้าน “เอ็นจีโอ” ขอร่วมเป็นสถานบริการ ชี้ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ชง อสม. เป็นบอร์ด สปสช. แทน เหตุเป็นตัวแทนประชาชน ชี้ สิทธิรักษามาตรฐานเดียว “บัตรทอง” ควรร่วมสมทบเพิ่มจากภาษี ระบุ ข้าราชการ - ประกันสังคม จ่ายทั้งภาษีและสมทบ อยากได้ฟรีต้องเก็บภาษีมากแบบต่างประเทศ ด้านเอ็นจีโอย้ำแก้กฎหมายต้องได้ “4-5-7” อย่างใจ ถึงไม่ค้าน
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นข้อเสนอการปรับปรุงแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยเห็นด้วย 4 ประเด็น เห็นต่าง 5 ประเด็น และข้อเสนอใหม่ 7 ประเด็น ว่า กรณีเสนอให้รวมสิทธิการรักษาทั้งหมดเป็นระบบเดียว อยากให้ประชาชนเข้าใจว่า ข้าราชการมีส่วนร่วมสมทบด้วยการรับเงินเดือนน้อย และต้องประพฤติตนภายใต้ระเบียบข้าราชการ ส่วนผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบเป็นรายเดือน เพราะฉะนั้น การเป็นมาตรฐานเดียว คือ ประชาชนทุกคนต้องร่วมสมทบ ดังนั้น ผู้ใช้สิทธิบัตรทองต้องร่วมสมทบด้วย แต่จะบอกว่าร่วมสมทบแล้วด้วยการจ่ายภาษีไม่ได้ เพราะกลุ่มอื่นก็จ่ายภาษีเช่นกัน แต่ต้องมาสมทบนอกเหนือภาษีด้วย
“การที่จะให้รัฐจัดบริการสาธารณสุขให้ฟรีและดีด้วย คนไทยต้องร่วมกันจ่ายภาษีในอัตราที่มาก เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่รัฐจ่ายบริการสาธารณสุขให้ฟรี เพราะประชาชนมีการจ่ายภาษีเงินได้ถึง 40-45% จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 25% ขณะที่คนไทยจ่ายภาษีน้อย แล้วรัฐบาลจะเอาเงินจากไหน มีการบอกต้องช่วยคนจนเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่กลับบอกไม่ต้องการการสงเคราะห์ ถามว่า รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เป็นการสงเคราะห์หรือไม่ และถ้าคนที่จะให้มีส่วนร่วมสมทบบัตรทองก็เป็นคนที่จนไม่จริงเท่านั้น” พญ.เชิดชู กล่าว
พญ.เชิดชู กล่าวว่า ส่วนเรื่องรายได้ของ สปสช. ในร่างกฎหมายใหม่ที่เอ็นจีโอเห็นด้วย แต่ตนไม่เห็นด้วย เพราะมีการกำหนดให้ สปสช. รับบริจาคได้ ถามว่า เป็นการเปิดช่องให้ สปสช. รับบริจาคจากแหล่งไหน ใช่จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือไม่ ในเมื่อที่ผ่านมามีการเปิดเผยออกมาว่า สปสช. ได้รับเงินส่วนลดจาก อภ. ในการซื้อยา โดยระบุว่า เป็นเงินบริจาค รวมถึงมาตรา 42 เรื่องการยกเลิกไล่เบี้ยผู้กระทำผิดได้ เอ็นจีโอเห็นด้วย แต่ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำผิดโดยการประมาทเลินเล่อร้ายแรง ไม่ควรยกเลิกการถูกไล่เบี้ยเอาผิด เพราะข้าราชการทั่วไปหากมีการตรวจสอบว่ากระทำการประมาทเลินเล่อร้ายแรงต้องถูกไล่เบี้ย เพื่อให้รับผิดชอบ เว้นแต่กรณีที่ประมาทเลินเล่อไม่ร้ายแรงก็ไม่ต้องไล่เบี้ย
“ประเด็นที่เอ็นจีโอเห็นต่างจากร่างกฎหมายบัตรทองใหม่ เช่น เรื่องนิยามเงินกองทุนฯ และนิยามสถานบริการ โดยต้องการให้เพิ่มองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร (เอ็นจีโอ) เข้าไปด้วย เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่มองค์กรเหล่านี้เป็นสถานบริการ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้วว่า อาจนำไปสู่การเข้ามาเอาเงินจากกองทุนบัตรทองไปทำโน่นนี่ นิยามของสถานบริการจึงควรหมายถึงสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนที่แท้จริงเท่านั้น จะอ้างว่าเข้ามาเพราะต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการด้านสุขภาพไม่ได้ เพราะหลักการประชาธิปไตยตามหลักสากลนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชน คือ การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ไม่ใช่มีส่วนร่วมด้วยการเข้ามามีอำนาจในหน่วยงานภาครัฐ” พญ.เชิดชู กล่าว
พญ.เชิดชู กล่าวว่า ส่วนกรณีข้อเสนอองค์ประกอบบอร์ด สปสช. เสนอให้ยกเลิกสัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชนด้านต่างๆ ออกไป แล้วให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามาเป็นตัวแทนของภาคประชาชนแทน โดยให้เลือกเป็นตัวแทน 5 ภาคทั้งเหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก และตะวันตก เพราะเป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง มีความรู้เรื่องสุขภาพและอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 35 เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนให้ครอบคลุมรวมถึงรองเลขาฯ สปสช. และผู้ช่วยเลขาฯ สปสช. ด้วย และมาตรา 36 เรื่องอำนาจเลขาฯ สปสช. ต้องลดลง โดยกำหนดให้ต้องทำตามในเรื่องที่ผ่านมติบอร์ดแล้ว และมาตรา 37 การตรวจสอบภายใน ต้องยกเลิกที่ให้ขึ้นตรงและรายงานผลต่อเลขาฯ สปสช. โดยแก้เป็นรายงานผลต่อบอร์ด สปสช. แทน
ด้าน นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.)กล่าวว่า การที่เอ็นจีโอต้องการเข้ามาเป็นหนึ่งในนิยามของสถานบริการ เข้าใจว่า ต้องการเข้ามาช่วยเหลืองานบริการสาธารณสุข แต่คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้น ควรให้เป็นหน้าที่ขององค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงได้ทำงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า หากต้องการช่วยเหลือจริงคิดว่า ภาครัฐสามารถจัดการได้ด้วยช่องทางอื่น ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดของภาคประชาชน เห็นว่าเป็นสิทธิที่เสนอได้ แต่ขณะนี้เรายังติดปัญหาว่าทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียยังมองกันในคนละมุม หากจะให้ระบบสามารถเดินไปได้ ประชาชนได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพต้องไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายต้องหันมาคุยกันเพื่อปรับมุมมองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตบอร์ด สปสช. สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า เครือข่ายฯ จะจับตามองการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 6 ก.ค. นี้ ว่า จะนำข้อสรุปเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข อย่างไร เนื่องจากในการประชุมเวทีปรึกษาสาธารณะ เครือข่ายประชาชนยืนยันแล้วว่า ปรับแก้กฎหมายได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่เสนอ คือ 4 ประเด็นเห็นด้วย 5 ประเด็นเห็นต่าง และ 7 ประเด็นเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนเห็นต่างไม่ควรนำสู่การแก้ไขกฎหมาย แต่ควรฟังเสียงประชาชน และให้ความเห็นต่างยุติก่อน โดยนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเฉพาะประเด็น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้ดำเนินการ ย้ำว่า ไม่ได้ขัดขวางการแก้กฎหมายบัตรทอง แต่ต้องแก้ที่ดี เพราะถ้าแก้แล้วแย่ จะแก้ทำไม ดังนั้น จึงมีข้อเสนอดังกล่าว และคาดหวังว่า รศ.วรากรณ์ และกรรมการทั้งหมดจะรับฟัง หากไม่รับฟังก็จะเดินหน้าคัดค้านถึงที่สุด