xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จี้ รบ.ตรวจสอบเส้นทางเงิน “เอ็นจีโอ” เชื่อมโยง สปสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ปรึกษา กมธ.สธ.สนช. จี้รัฐบาลตรวจสอบเส้นทางการเงิน “เอ็นจีโอ” เพิ่มเติม เชื่อมโยง สปสช. หรือไม่ หลังกลุ่มเอ็นจีโอท้าตรวจสอบรับเงินส่วนลดซื้อยา ด้าน สปสช. แจงเป็นงบส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐ อภ.

จากกรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลเรื่องการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อซื้อมาและได้รับส่วนลด ก็จะกันเงินให้เอ็นจีโอทำภารกิจองค์กร จนทำให้ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกมาท้าให้นายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ตรวจสอบเอ็นจีโอ ถ้าหากไม่ได้รับผลประโยชน์ให้ รมว.สาธารณสุข ออกมาขอโทษ จนล่าสุด พล.ท.สรรเสริญ ออกมายอมรับว่า จับประเด็นผิดพลาด

วันนี้ (22 มิ.ย.) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวเป็นหนึ่งในกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ชุดปัจจุบันและอดีต เมื่อกลุ่มเอ็นจีโอเรียกร้องให้นายกฯ ตรวจสอบ รัฐบาลก็ควรเร่งดำเนินการ รวมทั้งตรวจสอบกรณีที่ได้รับผลประโยชน์ใดจาก สปสช. หรือไม่ด้วย เพราะเท่าที่ทราบที่ผ่านมาเอ็นจีโอได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในรูปแบบของการเข้ามาเป็นบอร์ด สปสช. การเป็นอนุกรรมการชุดต่างๆ ใน สปสช. และการตั้งมูลนิธิต่างๆ แล้วรับเงินสนับสนุนจาก สปสช. จึงอยากให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินเหล่านี้ด้วยว่าจริงหรือไม่

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ขอให้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ไปเลยว่า ใครได้รับผลประโยชน์อะไร และการจัดซื้อยาก็ไม่ใช่ผลประโยชน์ เรื่องนี้ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ รวมทั้ง สปสช. ต้องออกมาให้ข้อเท็จจริงด้วย เพราะมีข้อมูลทราบเรื่องนี้ดีที่สุด

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไม่ใช่เงินส่วนลด แต่เป็นเงินที่เรียกว่า ส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐ โดยมีการตั้งระเบียบออกมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นเงินที่กำหนดตามเงื่อนไข ว่า หากหน่วยบริการหรือหน่วยงานใดซื้อยาจาก อภ. และจ่ายตรงตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด จะสามารถใช้เงินส่วนนี้ในกิจกรรมภาครัฐที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยต้องทำเรื่องเสนอโครงการมา ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติโครงการ โดยร้อยละ 80 จะเป็นหน่วยบริการ รวมทั้งกรมต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขเสนอขอมา และร้อยละ 20 สปสช. จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโครงการตามเกณฑ์ที่กำหนด

“ตั้งแต่ปี 2557 - 2559 พบว่า เอ็นจีโอรับโครงการไปส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐเพียง 1 โครงการ คือ โครงการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/เอดส์แห่งประเทศไทย วงเงิน 150,000 บาท ขณะที่โครงการที่ขอจากหน่วยงานอื่นๆ ก็มี เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่เขต 3 นครสวรรค์ (หลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 330 ชั่วโมง) รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี วงเงิน 503,820 บาท เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามเกณฑ์และการส่งมอบเงิน ก็ต้องส่งมอบงานให้เห็นได้ชัดก่อน เรื่องนี้จึงเป็นไปตามระเบียบทั้งหมด” ทพ.อรรถพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น