สธ. แจงแก้กฎหมายบัตรทอง ประเด็นแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว การจัดซื้อยา หากไม่ทำส่งผลกระทบต่อประชาชน ชี้ 15 ปี การรวมเงินเดือนทำให้บริการประชาชนไม่เท่าเทียม ส่วนการจัดซื้อยาต้องทำระบบให้ชัดเจน ทั้งการจัดซื้อ ผู้ถือเงิน ซื้อยาอะไร จำเป็นเหมาะสมหรือไม่ หน่วยบริการเห็นด้วยหรือไม่
ความคืบหน้ากรณีการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการประชาพิจารณ์ 4 ภาคและเวทีปรึกษาสาธารณะแล้ว โดยมีทั้งผู้คัดค้านและสนับสนุน โดยข้อเห็นต่างยังคงเป็นเรื่องสัดส่วนกรรมการบอร์ด สปสช. การจัดซื้อ การร่วมจ่าย การแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ไปจนถึงนิยามเรื่องสถานบริการให้ครอบคลุมเอ็นจีโอ เป็นต้น
นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การกำหนดให้มีโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ เป็นไปตามนโยบาย หรือความต้องการของพื้นที่ เช่น ต้องมีโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลประจำอำเภอและโรงพยาบาลระดับตำบล ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละขนาดจะมีค่าจ่ายใช้พื้นฐาน (FIXED COST) และบุคลากรตามกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสม ที่ผ่านมากลไกการจ่ายเงิน ตามมาตรา 46 (2) ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้การผูกเงินเดือนกับงบดำเนินงานไปด้วยกัน โดยมีเหตุผลเพื่อต้องการกระจายบุคลากรและให้หน่วยบริการควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ที่ได้รับนั้น แต่จากการศึกษาที่ปรากฏ พบว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ผลเท่าที่ตั้งเป้าไว้ แต่ประเด็นที่มีประสิทธิภาพ คือ การควบคุมจากทาง สธ. เรื่องโควตาการบรรจุ และการอนุมัติการจ้างงานในปัจจุบัน แต่การผูกเงินเดือนไว้กับงบบริการนั้น ทำให้เกิดภาระของหน่วยบริการ พบว่า หลายแห่งมีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อเวชภัณฑ์ และจ่ายค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้น ต่ำที่สุด คือ ไม่มีรายได้เหลือเลย โดยมีหลายๆ แห่งได้รับผลกระทบเช่นนี้ เช่น รพ.เกาะกูด, รพ.เกาะพีพี, รพ.ท่าช้าง, รพ.วัดเพลง, รพ.ศรีสังวาลฯ, รพ.สิงห์บุรี, รพ.อินทร์บุรี หรือโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงแต่อยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย เช่น รพ.ระนอง, รพ.นภาลัย, รพ.ตะกั่วป่า, รพ.นครนายก, รพ.พระพุทธบาทฯ เป็นต้น
"ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพระบบบริการ และไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนในพื้นที่นั้น แม้จะแก้ไขปัญหาโดยปรับเกลี่ยงบประมาณจากหน่วยงาน/หน่วยบริการอื่นๆ มาช่วยให้สามารถจัดบริการได้ แต่ในระยะยาวหน่วยบริการเหล่านี้ก็ไม่สามารถพ้นปัญหาไปได้ นอกจากนี้ การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 3,100 บาทต่อคนต่อปี ที่รัฐบาลจัดสรรให้รวม 1.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบส่งเสริมป้องกัน งบบริการผู้ป่วยนอก และงบบริการผู้ป่วยใน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้รับงบประมาณประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรให้กับหน่วยงานนอกกระทรวงสาธารณสุข” นพ.พิทักษ์พล กล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ. ในฐานะกรรมการชุดข้อเสนอการปรับระบบการจัดซื้อยา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงในการจัดซื้อยานั้นมาจากกรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทักท้วงว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่มีระเบียบรองรับในการจัดซื้อยา แม้การจัดซื้อยาตรงจุดนี้จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.9 ซึ่งไม่มากโดยเป็นยาในกลุ่มยากำพร้า พวกยาต้านพิษ ยาราคาแพงในกลุ่มยามะเร็งยาหัวใจ ยาวัณโรค วัคซีน และน้ำยาล้างไต เป็นต้น เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบ จึงต้องมีการปรับปรุงให้ถูกต้อง แม้ที่ผ่านมาจะสามารถต่อรองราคายาได้ถูกก็จริง แต่ก็มีข้อที่ต้องปรับปรุง อย่างยาบางตัว แพทย์มองว่าควรใช้อีกตัว เพราะมีเรื่องประสิทธิภาพสูงกว่าเข้ามา แต่ด้วยราคาถูก และถูกกำหนดเอาไว้ทำให้มีข้อจำกัด
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จึงจำเป็นต้องมีคณะทำงานขึ้นมาวางระบบ ว่า จะทำอย่างไรให้ถูกระเบียบและสอดคล้องกับความเป็นจริงเรื่องการรักษา ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเห็นว่าปี 2560 ก็ควรให้สปสช.ดำเนินการไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย แต่ในปี 2561 ต้องวางระบบใหม่ ต้องวางแผนให้การทำงานถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งจริงๆ การปรับปรุงใหม่รูปแบบการดำเนินการไม่ได้แตกต่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ สปสช. จะเป็นผู้ต่อรองราคายา แต่ในความเป็นจริงต้องร่วมมือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ทั้งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กรมต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งกรมการแพทย์ในเรื่องข้อมูลกลุ่มยาราคาแพง อย่างยามะเร็ง ยาหัวใจ กรมควบคุมโรค จะเป็นการให้ข้อมูลเรื่องวัคซีน และจะมีคณะกรรมการวัคซีนอีก หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเรื่องยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ทั้งหมดทำงานร่วมกันมาก่อนอยู่แล้ว
“ดังนั้น กลไกการทำงานจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่าจะพูดว่าใครทำมากกว่า จึงต้องตั้งกลไกขึ้นมาให้เป็นระบบชัดเจนขึ้น เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันจริงๆ โดย 1. การจัดซื้อ ผู้ถือเงิน 2. ซื้อยาอะไร 3. ฝ่ายวิชาการมีข้อมูลว่าต้องซื้อยาชนิดใดที่จำเป็นและเหมาะสม 4. หน่วยบริการเห็นด้วยหรือไม่ว่า หากนำไปใช้จะสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเราต้องวางระบบให้สมดุล ไร้ข้อครหา ที่สำคัญ การจัดซื้อยาครั้งนี้จะไม่ใช่แค่ผู้ป่วยบัตรทอง แต่จะมีความร่วมมือจากทั้งกรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ทั้งโรงเรียนแพทย์ กรุงเทพมหานคร ฯลฯ เพื่อให้การจัดซื้อยาครอบคลุมผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา” นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ มีค่าใช้จ่ายในการบริการผู้ป่วยจำนวน 50 ล้านบาท และต้องจัดสรรเงินให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 12 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 62 ล้านบาท แต่ทางโรงพยาบาลได้รับงบบริการผู้ป่วยนอกจากสปสช. ปีละ 20 ล้านบาท ทำให้ 15 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลประสบภาวะเงินบำรุงโรงพยาบาลลดลงกระทั่งปัจจุบันติดลบร่วม 200 ล้านบาท