“บิ๊กเข้” เปิดงาน 15 ปี สสส. ฟุ้งช่วยสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพมาก แต่ยังมีจุดอ่อนด้าน “ภาพลักษณ์” สังคมมองการหนุนงบให้หน่วยงานต่างๆ ยังไม่โปร่งใส ย้ำ รัฐบาลตรวจสอบแล้วไม่พบทุจริต เชื่อ ตั้งเพดานกองทุน สสส. หวังเกลี่ยงบไปกองทุนดูแลคนชรา ไม่กระทบงานสร้างเสริมสุขภาพ
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังเปิดงาน “15 ปี สสส. การเดินทางของความสุข” ว่า สสส. เป็นหน่วยงานที่มีรูปแบบเฉพาะในการดำเนินงาน ทำให้มีความคล่องตัวกว่าหน่วยราชการ และลดช่องว่างระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งราชการ เอกชน วิชาการ ประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น โดยได้รับงบประมาณในการดำเนินงานจากภาษีเหล้าและบุหรี่ ซึ่งแยกต่างหากจากภาษีปกติ โดย 15 ปีที่ผ่านมาของ สสส. ถือว่าช่วยผลักดันสุขภาวะสังคม ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง เช่น ลดอัตราของผู้สูบบุหรี่ในไทยต่ำลงกว่า 20% เป็นครั้งแรก ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการดื่มของคนไทยในงานบุญประเพณีต่างๆ จนปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จาก 8.16 ลิตรต่อคนต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ 6.95 ลิตรต่อคนต่อปี ในปี 2558 หรือลดลงถึง 14.8% จุดกระแสความตื่นตัวหลังนายกรัฐมนตรีให้หน่วยงานราชการจัดให้มีกิจกรรมทางกายทุกวันพุธ เป็นต้น
“ผมขอฝากถึงผู้บริหาร สสส. เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับ สสส. ทุกคน ว่า อยากให้ย้อนกลับมาดูอดีต 15 ปี ของ สสส. ว่า ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และยังมีอะไรที่เป็นจุดอ่อน มีอะไรที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะแม้ สสส. จะได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเป็นต้นแบบของกลไกทางการเงินเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เข้าร่วมสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้มีองค์กรอย่าง สสส. หรือได้รับรางวัลระดับสากลมาหลายรางวัล แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องอยู่ ซึ่งจะต้องวิเคราะห์และแก้ไข และค่อยก้าวต่อไปข้างหน้าว่าจะเน้นทำอะไรอย่างไรต่อไป” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สสส. ยังมีอะไรที่เป็นจุดอ่อนและต้องปรับปรุง พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องการทำงานของ สสส. ตนมองว่า ไม่มีปัญหา เพราะทำงานมากว่า 15 ปี ถือว่าทำได้อย่างดี แต่จุดอ่อนที่ควรแก้ไขคือ เรื่องภาพลักษณ์ เพราะสังคมยังมองภาพการทำงานของ สสส.ไม่ชัดเจนและไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องของการที่ สสส. สนับสนุนงบประมาณให้แก่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก ในการให้ภาคีเครือข่ายเหล่านี้ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ตรงนี้คนก็ยังมองภาพเรื่องของมีความโปร่งใสหรือไม่อย่างไร แต่ สสส. ก็มีการแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะจากการที่รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส โดยคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ไม่พบเรื่องของการทุจริต ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็มีการแช่แข็งงบประมาณ แต่ขณะนี้ก็สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ
เมื่อถามถึงการแก้ร่าง พ.ร.บ. สสส. ซึ่งจะมีการตั้งเพดานกองทุนไว้ หาก สสส. ได้รับงบประมาณเกินจะต้องโอนไปยังกองทุนดูแลคนชรา จะกระทบการทำงานของ สสส. ในอนาคตหรือไม่ พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. สสส. โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และผู้แทนจาก สสส. ซึ่งยังไม่เสร็จสิ้น 100% แต่ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ สสส.
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การนำภาษีบาป เช่น เหล้า บุหรี่ ที่แยกต่างหากจากภาษีปกติ มาใช้สร้างสุขภาพแนวใหม่ แม้เงินที่เพิ่มเข้ามาจะคิดเป็นเพียง 0.7% ของค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านสุขภาพ แต่สามารถช่วยให้เกิดกระบวนการที่แก้ไขต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ ได้แก่ การดูแลปัจจัยเสี่ยง กระตุ้นการตื่นตัวของประชาชนในการดูแลตัวเอง เกิดองค์ความรู้ และกลไกทางสังคมร่วมไปกับภาครัฐ มีกติกาต่างๆ กระบวนการเสริมสร้างความรู้เท่าทัน เกิดการสร้างสุขภาพกว้างขวาง และเกิดผลลัพธ์จำนวนมาก ดังนั้น ก้าวต่อไปของ สสส. จะเน้นความเป็นมืออาชีพด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเสริมศักยภาพให้ประชาชนพึ่งตัวเองมากขึ้น สามารถปรับวิถีชีวิตตนเองเพื่อเอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี พร้อมขยายงานด้านต่างๆ ทั้งเชิงระบบ องค์กร ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น