ความสำเร็จขององค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง กูเกิล ยูทูป เฟซบุ๊ก หรือ เลโก้ มาจากการมีไอเดียสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ สม่ำเสมอ ซึ่งการจัดสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้หลีกหนีจากความเครียด การนั่งอุดอู้คิดงานอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมทึบทึม ด้วยการดีไซน์ออฟฟิศให้สวยงาม เก๋กู๊ด ทันสมัย ชวนให้อยากทำงาน ต่างเป็นสิ่งที่องค์กรระดับบิ๊กเหล่านี้หันมาให้ความสนใจทั้งสิ้น
นอกจากการออกแบบออฟฟิศให้เอื้อต่อการมีความคิดสร้างสรรค์ของ “พนักงาน” แล้ว การออกแบบอาคารที่ทำงานให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
บนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ของที่ดินราชพัสดุ ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือเป็นอีกหนึ่งอาคารต้นแบบของประเทศไทยที่มีการออกแบบอาคารตามแนวคิดที่เรียกว่า “อาคารสีเขียว” ซึ่งเป็นลักษณะของอาคารที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้คนทำงานมีสุขภาพกายและใจที่ดี เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า นับตั้งแต่ตื่นขึ้นมา คนเราใช้เวลาครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของวันอยู่ในที่ทำงาน แน่นอนว่า ลักษณะของสถานที่ทำงาน ออฟฟิศ หรืออาคารที่อยู่นั้น ย่อมส่งผลต่อสุขภาพของคนทำงานแน่นอน ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเราอยู่ในพื้นที่สลัม พื้นที่ที่มีมลพิษ หรือพื้นที่ศึกสงคราม แน่นอนว่าสุขภาพย่อมไม่ดี การใช้ชีวิตในออฟฟิศก็เช่นกัน หากไม่มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เอื้อต่อการมีความคิดสร้างสรรค์ ก็ส่งผลต่อสุขภาพของพนักงานแน่นอน
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในฐานะที่ สสส. ทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ แน่นอนว่า ก่อนการสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ย่อมต้องมีการออกแบบเพื่อรองรับการส่งเสริมสุขภาวะ โดยออกแบบภายใต้แนวคิด ดังนี้ 1. อาคารที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ บริเวณต่างๆ ของอาคารได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design) ครอบคลุมทั้งเด็ก สตรี คนชรา และคนพิการ เพื่อสะท้อนแนวคิดการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่มอย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีทั้งทางลาด ห้องน้ำสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เป็นต้น
2. ก่อสร้างอาคารด้วยแนวคิด “สถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture)” โดยยึดตามหลักเกณฑ์ในการประเมินอาคารและรับรองตามมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) คือ คำนึงถึงการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะแห่งนี้ ประหยัดการใช้พลังงานมากกว่าอาคารทั่วไปถึงร้อยละ 30 ด้วยการออกแบบและก่อสร้างที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น แสง ลม และน้ำ โดยมีระบบอัจฉริยะแสดงผลประหยัดพลังงาน เพื่อควบคุมการเปิด - ปิด และแสดงผลการใช้พลังงานไฟฟ้าแยกตามส่วนงาน และการติดกระจกสองชั้นเคลือบฉนวนกันรังสีความร้อน การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“การใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินั้น คือ มีการใช้แผงรับแสงอาทิตย์ (Solar Cell) บนดาดฟ้า เพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับไฟส่องสว่างบริเวณที่จอดรถชั้นใต้ดินตลอดวัน หรือเท่ากับร้อยละ 3 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในอาคาร ตัวโถงกลางของอาคารก็เป็นแบบเปิดโล่ง สบาย รับลมและแสงจากธรรมชาติ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคาร และสามารถมองเห็นกันได้จากทุกทิศทางตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้นดาดฟ้า การติดแผงกันแดดที่ช่วยควบคุมปริมาณแสงส่องสว่าง ลดความร้อนสะสมภายในอาคาร และลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ มีการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียเก็บกักน้ำฝน บำบัดน้ำเสีย และปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้ง ก่อนนำหมุนเวียนใช้ใหม่ในระบบสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำโดยรวมของอาคาร ” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า ส่วนในแง่ของการออกแบบเพื่อส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของคนทำงาน มีทั้งเรื่องของหลังคาเขียว โดยบริเวณดาดฟ้าของอาคารออกแบบให้เป็นแปลงสาธิตการปลูกผักปลอดสารพิษด้วยตนเอง ตอบสนองวิถีชีวิตของคนเมืองในปัจจุบัน การใช้เครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยควบคุมอัตราการเติมอากาศบริสุทธิ์ตามความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในพื้นที่ พร้อมระบบกรองอากาศสองชั้น ช่วยกำจัดฝุ่นและแบคทีเรียในอากาศ ส่วนบันไดก็เปิดโล่ง กว้างเชื่อมโยงถึงกันในแต่ละชั้น ส่งเสริมให้คนทำงานมีสุขภาพกายที่แข็งแรงด้วยการขยับก้าวเดินขึ้น - ลงบันได เพิ่มการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางกาย รวมถึงมีห้องฟิตเนส และโรงอาหารที่เน้นการให้ความรู้เรื่องโภชนาการ
นอกจากนี้ ยังมีระเบียงเขียว เป็นเส้นทางเดินและเส้นทางสัญจรที่เชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ออกแบบให้มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ชาน และระเบียงบ้าน เชื่อมโยงพื้นที่สวนกับพื้นที่ใช้สอยส่วนต่างๆ ของทุกชั้นในอาคาร เช่น พื้นที่ภายนอกห้องประชุม และห้องทำงาน จะเชื่อมต่อกับสวนตรงระเบียง (Green Terrace) ซึ่งนอกจากเป็นมุมผ่อนคลายแล้ว ยังเป็นพื้นที่สนทนาอย่างไม่เป็นทางการ และพื้นที่เหล่านี้ยังเป็นต้นแบบของอาคารปลอดบุหรี่อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมกับเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ 10 ท่าน มาร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์งานประติมากรรมอันทรงคุณค่าและความหมายในทางศิลปะ ภายใต้แนวคิด “ศิลป์สร้างสุข” ที่มีรูปแบบร่วมสมัย สามารถสื่อสารกับผู้คนได้ทุกเพศวัย รวมทั้งมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของอาคาร เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะทางจิตและปัญญาผ่านความงาม และความสุขจากงานศิลปะ ส่งผลถึงการทำงานที่ไม่เครียด เพื่อส่งเสริมการเกิดไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน
ล่าสุด ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้รับรางวัลอาคารประหยัดพลังงาน หรือ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ในระดับ Platinum โดย The US Green Building Council หรือ USGBC ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย LEED เป็นมาตรฐานรางวัลที่ได้รับความน่าเชื่อถือที่สุดสำหรับอาคารสีเขียวในระดับโลก
สำหรับการปรับออฟฟิศให้กลายเป็นออฟฟิศสีเขียว หรือเป็นอาคารสีเขียว เพื่อส่งเสริมสุขภาวะคนทำงาน ส่งเสริมพนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์นั้น ดร.สุปรีดา แนะนำว่า สำหรับอาคารที่สร้างมาแล้วอาจจะต้องดูว่าโครงสร้างของอาคารมีสิ่งใดที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาวะบ้าง ก็อาจจะเน้นในส่วนนั้น เช่น ส่งเสริมการใช้บันได หรืออาจมีการตกแต่งสถานที่ให้เอื้อมากขึ้น ส่วนอาคารที่กำลังก่อสร้างอาจจะมาเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้ ซึ่งอาจไม่ต้องทำครบทั้งหมดอย่างที่ สสส.ทำ แต่อาจเลือกเรื่องที่เหมาะสมกับอาคารของตัวเองไปปรับใช้แทนได้
เรียกได้ว่า สิ่งแวดล้อมออฟฟิศดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง “วิน - วิน” ทั้งนายจ้าง และพนักงาน โดยนายจ้างก็ได้ผลงานดี พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ สุขภาพดีทั้งกายและใจ