สสส. แถลงผลงานปี 59 หนุนงานสร้างเสริมสุขภาพกว่า 2,400 โครงการ เผย มีผู้รับทุนหน้าใหม่เกือบ 3,000 ราย/องค์กร ชูผลงานช่วยผลักดัน กม. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ดันไทยผู้นำส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ขยายพื้นที่สุขภาวะเกือบหมื่นแห่ง ผลประเมินทำงานอยู่ระดับดี มีธรรมาภิบาลสูง ลั่นปี 60 ยกระดับ สสส. เป็นสถาบันสร้างเสริมสุขภาพ ลดปัญหาบุหรี่ เหล้า ปัจจัยเสี่ยง
วันนี้ (21 มี.ค.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวผลการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพปี 2559 และก้าวต่อไปของ สสส. ว่า ปี 2559 สสส. ถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เนื่องจากมีข้อกล่าวหาและข้อสังเกตต่างๆ ว่า อาจใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกการทำงานมีความชะลอตัว และมีความก้าวหน้าช้ามาก จนช่วงครึ่งปีหลังที่ คตร. ปลดล็อกการทำงาน ส่งผลให้สามารถเร่งการทำงานในด้านต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งสุดท้าย สสส. สามารถทำงานพื้นฐานได้ตรงตามแผนปี 2559 ครบทุกด้าน โดยสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพทั้งสิ้น 2,401 โครงการ มีผู้รับทุนรายใหม่ 2,859 ราย/องค์กร ขณะที่การตรวจสอบก็ยืนยันว่า ไม่มีการทุจริตหรือผิดระเบียบแต่อย่างใด
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการทำงานของ สสส. ในปี 2559 มีการสนับสนุนผลักดันนโยบายและกฎหมายด้านการสร้างเสริมสุขภาพทั้งระดับชาติและท้องถิ่นกว่า 40 นโยบาย อาทิ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ซึ่งจะช่วยควบคุมการเข้าถึงบุหรี่ของเด็กและเยาวชนได้ และ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาด้านเพศวิถี และสวัสดิการทางสังคมบริการอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น ส่วนผลการดำเนินงานสำคัญๆ คือ 1. ประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 และเกิดปฏิญญากรุงเทพ และมีร่างแผนปฏิบัติการการมีกิจกรรมทางกาย ที่เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 71 ในปี 2561 ส่วนประเทศไทยนายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ส่วนราชการมีกิจกรรมทางกายทุกวันพุธ จนได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก
2. ขยายศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ภูมิภาคอีก 4 แห่ง ที่ลำปาง ยะลา ฉะเชิงเทรา และ ร้อยเอ็ด ช่วยขยายฐานประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้การสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีประชาชนมาใช้บริการทุกช่องทางเกือบ 4 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วเกือบ 150% และจากการสำรวจผู้ใช้บริการมีแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 83.2% 3. พัฒนาและขยายพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และองค์กร เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน องค์กรสุขภาวะ จังหวัดต้นแบบปลอดบุหรี่ เป็นต้น และ 4. สร้างความเท่าเทียมทางสุขภาพ โดยสนับสนุนและพัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการทำงานในชุมชน ส่งผลให้เกิดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการเพิ่ม 16,000 คน และภาคเอกชนร่วมจ้างเพิ่มไปแล้วกว่า 8,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ให้แก่คนพิการเพิ่มในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท
“ส่วนในแง่การประเมินผลการทำงานนั้น มีคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของ สสส. ที่ ครม.แต่งตั้ง โดยส่วนของผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดนั้นอยู่ที่ 4.56 คะแนน จาก 5 คะแนน ซึ่งสูงกว่าปี 2558 เกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านการตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากปัญหาการตรวจสอบการทำงานของ คตร. ส่วนการประเมินผลธรรมาภิบาล ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 8.78 คะแนน จาก 10 คะแนน ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นปีแรกด้วย โดย สสส. ได้คะแนนร้อยละ 81.41 จนได้รับเกียรติบัตรองค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานระดับสูงมาก” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับการทำงานของ สสส. ในปี 2560 จุดเน้นสำคัญ คือ 1. ยกระดับ สสส. ให้เป็นสถาบันการเรียนรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) โดยใช้บทเรียนและประสบการณ์การทำงานของ สสส. กว่า 10 ปี พัฒนาเป็นองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพทั้งนักสร้างเสริมสุขภาพชาวไทยและต่างชาติ คาดว่าจะสำเร็จเต็มรูปแบบภายใน 3 ปี 2. จัดการปัญหาบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพด้วยมาตรการทางสังคมเสริมกฎหมาย โดยเฉพาะการสนับสนุน พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และ 3. พัฒนาและขยายพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศต่อไป ทั้งจำนวนและคุณภาพ โดยรับโจทย์ของภาคและท้องถิ่นผ่านกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชนมากขึ้น