กรมสรรพากรพม่าจ่อเก็บภาษีบาปจัดตั้งกองทุนสุขภาพแบบ สสส.ไทย หลังพบชาวชนบทบริโภคยาสูบหนัก
นายโก โก เอ (Ko Ko Aye) อธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) กล่าวในระหว่างการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเทศไทย พร้อมด้วยกรรมการบริหารมูลนิธิสาธารณสุขประชาชน (People Health Foundation : PHF) เพื่อเตรียมจัดตั้งองค์กรสร้างเสริมสุขภาพแห่งพม่า ว่าได้มาศึกษาเรื่องขั้นตอนการก่อตั้ง สสส.ไทย กระบวนการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) จากภาษีสรรพสามิตยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย โดยสนใจกระบวนการจัดตั้งกองทุนสุขภาพแบบองค์รวม การจัดหาแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนการทำงานของ สสส. โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารและการสร้างความเข้าใจกับสาธารณะถึงแนวทางการจัดการสุขภาพอย่างบูรณาการผ่านการทำงานร่วมกับหลายองค์กร เพราะขณะนี้พม่ายังไม่มีการจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะเพื่อทำหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพ โดยยังมุ่งแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นการรักษาสุขภาพจากโรคและการเจ็บป่วยมากกว่า
“หากพม่าใช้มาตรการภาษีบาปเพื่อสุขภาพเหมือน สสส.ไทย พม่าน่าจะเก็บภาษีได้สูงกว่าไทย เพราะมีการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้จำนวนมาก และหาซื้อได้ง่าย อุตสาหกรรมยาสูบก็กำลังเติบโตรวดเร็วในเมียนมาร์ แม้แต่ในชนบทก็มีการค้าขายอย่างแพร่หลาย หากพม่าสามารถก่อตั้งองค์กรสุขภาพได้ จะต้องมาเรียนรู้การดำเนินงานเพิ่มเติมจาก สสส.ไทยในฐานะองค์กรสุขภาพต้นแบบ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของพม่าให้มั่นคง โดยจะนำไปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา พร้อมจะเชิญคณะผู้บริหาร สสส.ไทยเข้าร่วมให้คำปรึกษาต่อฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการจัดเก็บภาษีเฉพาะและการสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพด้วย” นายโก โก แอ กล่าว
นายออง เจียง (Aung Kyaing) กรรมการ PHF กล่าวว่า จากการสำรวจครั้งล่าสุดของมูลนิธิฯ พบว่า ประชากรพม่าเพศชายมีอัตราการสูบยาสูบทุกประเภท ทั้งการสูบบุหรี่ ซิการ์ และใช้ยาเส้นกับการกินหมาก สูงถึงร้อยละ 45 และเพศหญิง ร้อยละ 8-9 ส่วนมากอายุระหว่าง 28-60 ปี ทั้งนี้ จากการสำรวจโรคที่เกิดจากยาสูบและบุหรี่พบว่า ประชากรที่มีประวัติเป็นมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก ล้วนมีประวัติการบริโภคยาสูบทั้งสิ้น จึงเห็นด้วยหากพม่าจะรณรงค์ลดการสูบ แต่ปัญหาคือมูลนิธิเป็นองค์กรเอกชนที่มีทุนจำกัด ทำให้การรณรงค์เข้าไม่ถึงพื้นที่ห่างไกล และพม่าเองยังมีกฎหมาย หรือคณะปกครองระดับรัฐด้วย ดังนั้น การสร้างนโยบายสุขภาพแค่ส่วนกลางคงยังไม่พอ แต่อาจจะต้องเริ่มก่อตั้งในพื้นที่เมืองก่อนแล้วค่อยขยายไปสู่ชนบท
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สสส.เป็นต้นแบบกลไกการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ เช่น ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย เกาหลีใต้ โอมาน ฯลฯ โดยมีคุณลักษณะที่พิเศษทั้งรูปแบบการก่อตั้งโดยกฎหมาย ให้งบประมาณกองทุนมาจากการจัดเก็บภาษีเฉพาะ เป็นภาษีส่วนเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบอีกร้อยละ 2 และมีการบริหารงานเป็นองค์กรรัฐนอกระบบราชการ เพื่อให้สามารถทำงานประสานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ประชาสังคม วิชาการ ท้องถิ่น และเอกชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ หากประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างพม่า สามารถก่อตั้งกองทุนสุขภาพสำเร็จ สินค้าที่เป็นอันตรายสุขภาพ เช่น บุหรี่ เหล้า ได้รับการจัดการที่ดีก็จะทำให้สุขภาพของประชาชนชาวพม่าดีขึ้นแล้ว ยังจะส่งผลถึงประเทศไทยด้วย