ปรับแก้ร่างกฎหมาย “บัตรทอง” ตามความเห็นประชาพิจารณ์ไม่แล้วเสร็จ เหลืออีก 2 ประเด็นใหญ่ และ 3 ประเด็นย่อย รอประชุมครั้งหน้า 13 ก.ค. เผยพิจารณาเรื่องร่วมจ่ายแล้ว ปัดตอบถอดหรือไม่ถอดออกจากกฎหมาย ขอเปิดเผยหลังสรุปทั้งหมด
วันนี้ (6 ก.ค.) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ซึ่งมี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ว่า คณะกรรมการได้พิจารณาความคิดเห็นที่รวบรวมจากการประชาพิจารณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 14 ประเด็น และบวกเพิ่ม 3 ประเด็น อย่างไรก็ตาม เดิมทีตั้งใจจะพิจารณาให้แล้วเสร็จทั้งหมด แต่ยังเหลืออีก 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และ การจัดซื้อยาที่ สปสช. ไม่มีอำนาจดำเนินการ และอีก 3 ประเด็นเพิ่มเติม โดยจะไปพิจารณาอีกครั้งวันที่ 13 ก.ค. นี้ ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดเวลา
“ประเด็นที่ต้องรอพิจารณาเพิ่มยังมีเรื่องการใช้คำ ที่ต้องรอความคิดเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากติดภารกิจ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ในครั้งนี้ ส่วนประเด็นร่วมจ่ายนั้นพิจารณาแล้ว แต่ทางคณะกรรมการฯ ขออนุญาตแจ้งพร้อมกับประเด็นทุกอย่างที่หารือจนได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560” นพ.มรุต กล่าวและว่า ส่วนการประเมินผลกระทบจากการแก้กฎหมายโดยสถาบันพระปกเกล้า เบื้องต้นจะแล้วเสร็จวันที่ 12 กรกฎาคม แต่อาจต้องพิจารณาว่าจะเสร็จทันอีกหรือไม่ ซึ่งไม่ต้องเสนอต่อคณะกรรมการร่างฯ แต่จะเสนอต่อ รมว.สธ. โดยตรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 14 ประเด็น คือ 1. การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กร ที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย 2. กรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3. การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด 4. เงินเหมาจ่ายรายหัวกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้ 5. นิยาม “บริการสาธารณสุข” คือ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล 6. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ 7. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย
8. การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย 9. การร่วมจ่ายค่าบริการ 10. การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ 11. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 12. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข 13. แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนฯ และ 14. การใช้จ่ายเงินบริหารของ สปสช. ไม่ต้องส่งคืนคลังเพื่อความคล่องตัว และการปรับปรุงคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.
ส่วน 3 ประเด็นเพิ่มเติม คือ 1. กรณีไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการยกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากมองว่าเพิ่มเติมนอกเหนือจากคำสั่ง ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2. ประเด็นการครอบคลุมสิทธิทุกสิทธิให้ได้มาตรฐานเดียว มีความเสมอภาคอย่างแท้จริง และ 3. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ยังไม่ได้รับการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากควรเปิดให้แสดงความคิดเห็นตั้งแต่ก่อนยกร่าง พ.ร.บ.