xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ลั่นสู้ทุกวิถีทาง หากเร่งออก กม.บัตรทอง ยันทำเสียสิทธิหลายเรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายภาคประชาชนลั่นสู้ทุกวิถีทาง หากเดินหน้าออกกฎหมาย “บัตรทอง” ชี้ทำเสียสิทธิหลายเรื่อง ป่วยเรื้อรังเสี่ยงขาดยา ผู้ป่วยห่างไกลขาดแคลนหมอ หวั่นคิดค่าใช้จ่ายตามต้นทุนปัจจุบัน ทำงบไม่พอ ส่อเกิดการร่วมจ่าย ย้ำตัดเรื่องร่วมจ่ายออก ให้สิทธิบัตรทองทุกคน รวมสิทธิการรักษา ด้าน รมว.สธ.เร่งลดความเห็นต่างให้น้อยที่สุด

วันนี้ (6 ก.ค.) ที่โรงแรมไมด้า จ.นนทบุรี นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวในเวทีเสวนา “แก้ กม.บัตรทองอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์?” ว่า การแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายบัตรทอง ยืนยันว่าจะต้องยึด 2 หลักการ คือ 1. แยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกัน และ 2. ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าเทียมสำหรับทุกคน สำหรับร่างกฎหมายบัตรทองดังกล่าวเห็นด้วยกับการแก้ตามคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. ส่วนประเด็นเห็นต่างยังไม่ควรแก้ไขในตอนนี้ และให้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อนจนได้บทสรุปที่ดีที่สุด ถ้าหากยังเดินหน้าแก้ไข ยืนยันว่าจะต่อสู้ถึงที่สุดและพร้อมสู้ทุกวิถีทาง

นายนิมิตร์กล่าวว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านออกมา จะทำให้ประชาชนเสียสิทธิในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการปรับสัดส่วนบอร์ด สปสช. ทำให้การส่งเสียงเรื่องสิทธิการรักษาระบบบัตรทองจากสัดส่วนประชาชนค่อยลง เรื่องการไม่แก้ไขให้ สปสช.จัดซื้อยา อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงการขาดแคลนยาโดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง และเกิดความไม่เท่าเทียม เพราะเมื่อให้แต่ละเขตต่อรองจัดซื้อยาเองก็จะได้ในราคาที่ไม่เท่ากัน หรือเรื่องการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ก็จะทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมคือ แพทย์และบุคลากรกระจุกอยู่ภายในตัวเมือง ไม่ไปพื้นที่ห่างไกล ก็จะขาดแคลนบุคลากรในการให้บริการผู้ป่วย เป็นต้น

“นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายยังมีการระบุถึงการจ่ายเงินให้หน่วยบริการต้องสะท้อนต้นทุน ณ ปัจจุบัน ที่มีการแก้ไขโดยที่ประชาชนไม่รู้ และไม่อยู่ใน 14 ประเด็นการรับฟังความคิดเห็น สิ่งเมื่อคิดตามต้นทุนปัจจุบัน เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็ต้องจ่ายเงินให้หน่วยบริการที่มากขึ้น ไม่จ่ายก็ไม่ได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่ช่วงไตรมาสหลังงบประมาณจะไม่พอ ซึ่งสุดท้ายก็จะกลับมาเข้าสู่เรื่องของการร่วมจ่าย เพราะไม่ถูกตัดออกไปจากกฎหมาย ซึ่งเจตนาก็ค่อนข้างชัดเจน โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบก่อนคือ กลุ่มคนชั้นกลาง เพราะมองว่าสามารถจ่ายได้ และจะกลับไปสู่ความเป็นอนาถาตามเดิม เพราะต้องมีการแสดงตัวว่าเป็นคนจน ตรงนี้กลายเป็นความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ระบบนี้เป็นของคนไทยทุกคน” นายนิมิตร์กล่าว

นายนิมิตร์กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายให้ดี สามารถทำได้โดยตัดประเด็นการร่วมจ่ายออกจากกฎหมาย แก้ไขให้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิบัตรทอง นอกจากนี้ รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ควรตอบคำถามด้วยว่า เหตุใดจึงไม่ตัดมาตรา 9 และ 10 ออก เพื่อให้ข้าราชการและผู้ประกันตนมาอยู่ภายใต้ระบบสุขภาพเดียว อย่างประกันสังคมที่ถูกหัก 1% จากการจ่ายสมทบมาเป็นค่ารักษาพยาบาลก็จะได้ไปเป็นเงินสะสมบำนาญที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับกรณีข้อเสนอของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ให้ผู้ป่วยโรคไตร่วมจ่าย เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ตรงนี้น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสิทธิเสมอภาคและความเท่าเทียม ที่ไม่ควรหยิบเรื่องสุขภาพมาทำให้เกิดความแตกต่างและเลือกปฏิบัติว่ากลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงต้องร่วมจ่าย

เมื่อถามถึงการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่าย ไม่ได้เป็นการดึงงบกลับมาที่ สธ. แต่ทำให้สะท้อนความจริงเรื่องงบประมาณ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการ สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า อย่าลืมว่าแม้จะแยกออกมาให้เห็นงบประมาณชัดเจนว่าอันไหนคือเงินเดือน ส่วนไหนคือค่ารักษา แต่ในความเป็นจริงยังมีค่าจ้างพนักงาน ลุกจ้างต่างๆ ที่อยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวอีก ซึ่งการแยกเงินเดือน ไม่ได้รวมในส่วนนี้ด้วย

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หากคณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎหมายบัตรทองสรุปได้แล้วก็จะส่งมายังตน แน่นอนว่า ช่วงที่ผ่านมามีความเห็นแตกต่าง แต่ไม่ใช่การต่อสู้ เพราะมุ่งประโยชน์ให้กับประชาชน คงไม่ใช้คำว่าจะทำอย่างไรให้ปรองดอง เพราะไม่ได้ทะเลาะอะไร แต่พวกเราต้องการให้ประชาชนได้รับสิทธิที่ดี ซึ่งรัฐบาลยืนยันเสมอว่า ต้องได้สิทธิเหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม การที่กลัวคงไม่มีอะไรดีขึ้น ดังนั้น ขอเวลาดูร่างที่ทางคณะกรรมการยกร่างฯ จะเสนอขึ้นมาก่อนดีกว่า ส่วนที่มีการกังวลว่าจะร่วมจ่ายในอนาคต ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อเห็นต่างของเครือข่ายภาคประชาชนจะดำเนินการอย่างไร นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ขอพิจารณาก่อนว่า ข้อเห็นต่างนั้นจะสามารถทำให้มีความเห็นใกล้เคียงกันได้หรือไม่ ตนคงบอกไม่ได้ว่าต้องเห็นเหมือนกันหมดได้ แต่ขอมาดูก่อนว่าอะไรที่จะสามารถตกลงเป็นทางการสายกลางได้ อะไรที่จะมีข้อขัดแย้งให้น้อยที่สุดน่าจะดีกว่า

กำลังโหลดความคิดเห็น