xs
xsm
sm
md
lg

เงิบไหม? อ้างข้อมูล “หมอชนบท” รพ.เล็กค้านแยกเงินเดือนจากงบบัตรทอง รพ.นาหม่อม ประกาศชัดแยกดีกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรรมการ สปสช. ภาคประชาชน อ้างข้อมูลแพทย์ชนบท แยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายบัตรทอง กระทบการดูแลคนในชนบท อ้าง รพ.เล็กไม่อยากให้แยก ด้าน รพ.นาหม่อม รพ.ขนาดเล็กร่วมหนุนแก้กฎหมายบัตรทอง ย้ำต้องแยกเงินเดือน

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพตัวแทนประชาชน (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการให้ข้อมูลไม่ถูกต้องเพื่อจงใจให้เกิดการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวสิทธิบัตรทอง เป็นการให้ข้อมูลแค่บางส่วนเพื่อหวังให้คนหลงเชื่อ เมื่อดูข้อมูลจากชมรมแพทย์ชนบทที่ทำการวิเคราะห์งบรักษาพยาบาลจากทุกสิทธิ จะพบว่า ข้อเสนอให้แยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวจะส่งผลกระทบถึงประชาชนในชนบท ทั้งนี้ สิ่งที่ทุกคนควรทราบ คือ เงินรายได้และรายจ่ายของโรงพยาบาลรัฐสังกัด สธ. นั้น ได้รับจาก 3 กองทุนสุขภาพหลัก คือ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากชมรมแพทย์ชนบทที่ได้เปรียบเทียบ 4 จังหวัด ระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ สิงห์บุรี, สมุทรสงคราม, บุรีรัมย์ และ อุบลราชธานี จะพบว่า เฉพาะรายได้บัตรทองต่อหัวสิงห์บุรีได้มากกว่าจังหวัดอื่น ดังนี้ สิงห์บุรี 3,583 บ./คน, สมุทรสงคราม 2,904 บ./คน, บุรีรัมย์ 2,089 บ./คน และ อุบลราชธานี 2,418 บ./คน และหากรวมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพจะพบว่ารายได้ที่สิงห์บุรีซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกยกมาใช้เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องแยกเงินเดือนก็จะเห็นได้ว่ารายได้ยิ่งห่างจากจังหวัดอื่นมากขึ้นไปอีก ดังนี้ สิงห์บุรี 5,527 บ./คน, สมุทรสงคราม 4,830 บ./คน, บุรีรัมย์ 3,391 บ./คน และ อุบลราชธานี 4,525 บ./คน และเมื่อดูภาระงานในการดูแลประชาชนทุกสิทธิของ 3 จังหวัดคือ สิงห์บุรี, บุรีรัมย์ และ อุบลราชธานี จะพบว่า บุรีรัมย์และอุบลราชธานีมีภาระงานในการดูแลประชาชนมากกว่าสิงห์บุรี 6.7 - 8 เท่า เพราะสิงห์บุรีมีจำนวนบุคลากรมากกว่าบุรีรัมย์และอุบลราชธานี 2.2 - 3.2 เท่า

“จากตัวเลขนี้ การแยกเงินเดือนจะกระทบประชาชนในชนบทแน่นอน จะเห็นว่าข้อเสนอแยกเงินเดือนล้วนมาจาก รพ.ขนาดใหญ่ ขณะที่ รพ.ขนาดเล็ก ไม่อยากให้แยก เพราะจะทำไม่มีบุคลากรในการให้บริการประชาชน” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน เพจสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ได้มีการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กรณีแพทย์จากโรงพยาบาลนาหม่อม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. อสม. และประชาชนในอำเภอนาหม่อม จ.สงขลา ร่วมกันชูป้ายประกาศเจตนารมณ์ สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ พ.ร.บ. บัตรทอง ทั้ง 14 ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และข้อเสนอแนะให้ อสม. ทั้ง 5 ภาคเข้าเป็นบอร์ด สปสช. แทนภาคประชาชน

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. .... กล่าวถึงกรณีกลุ่มตัวแทนผู้ใช้บัตรทองในจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงใหม่ เพื่อขอให้ยุติการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ซึ่งมีการให้ข้อมูลที่อาจทำให้คนเข้าใจผิด ว่า ขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง ใน 2 ประเด็นที่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. ประเด็นการร่วมจ่ายในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ครั้งนี้ ไม่มีข้อเสนอให้แก้ไขในประเด็นการร่วมจ่ายแต่ประการใด คงเนื้อหาตามเดิมที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 ประชาชนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม ไม่ต้องจ่ายเงินเหมือนเดิม และไม่ต้องร่วมจ่ายแต่อย่างใด 2. ประเด็นผู้ที่มีสิทธิใช้บัตรทองไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด คนไทยทุกคนมีสิทธิใช้บัตรทอง ยกเว้นผู้ที่มีสิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนอื่น เช่น กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ขึ้นทะเบียนคนจน

“ประชาชนผู้ใช้บัตรทองทุกคน ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตัดสิทธิ เนื่องจากไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนจน หรือจะได้ร่วมจ่ายเงิน เมื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลทุกอย่างเหมือนเดิม ยังได้รับสิทธิเหมือนเดิม ตาม พ.ร.บ. ฉบับเดิม กระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัด เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทอง การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ แก้ไขที่ระบบบริหารจัดการ ไม่ได้แก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้ป่วยแต่อย่างใด” นพ.มรุต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น