แพทยสมาคมฯ - สพศท. - สมาคมกายภาพฯ ยื่นหนังสือ คกก. ร่างกฎหมายบัตรทอง สนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย พร้อมยื่น 4 ข้อเสนอสัดส่วนบอร์ด สปสช. ต้องเหมาะสมทั้งผู้ให้ - ผู้รับบริการ จัดสรรเงินเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากสุด แยกงบเงินเดือนจากงบเหมาจ่าย ด้านทีมยกร่างเตรียมพิจารณา 6 ก.ค. ก่อนเสนอ รมว.สธ. ต่อไป
วันนี้ (4 ก.ค.) ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ พร้อมด้วย นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) และ นายชัยรัตน์ แซ่โค้ว ตัวแทนสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายบัตรทอง โดยมี นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ โฆษกกรรมการร่างฯ รับมอบ
ศ.นพ.สารเนตร์ กล่าวว่า แพทยสมาคมฯ เห็นพ้องในการสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง เนื่องจากแม้กฎหมายเป็นสิ่งที่ดี แต่ใช้มานานกว่า 15 ปี จึงควรมีการปรับปรุง ซึ่งเสนอ 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. สัดส่วนบอร์ด สปสช. มองว่า จำเป็นต้องเพิ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ 2. การจัดสรรเงินต้องให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด อย่างการพิจารณา หรือจัดโครงการพิเศษใดๆ ต้องไม่กระทบกับงบเหมาจ่ายรายหัว 3. การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวควรแยกเงินเดือนของบุคลากร เพื่อให้ทราบว่าเงินที่จะใช้ในการบริการต่อประชาชนเป็นอย่างไรเท่าไร เพียงพอหรือไม่ และ 4. ต้องมีระบบในการตรวจสอบความโปร่งใสอย่างชัดเจน
“ประเด็นแยกเงินเดือน อย่างประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ก็มีการแยกอย่างชัดเจนระหว่างเงินเดือนบุคลากร และเงินที่จะใช้กับประชาชน ซึ่งเราก็ควรทำเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาก็เห็นชัดแล้วว่า โรงพยาบาลก็มีปัญหาทางการเงิน หากแยกชัดก็จะก่อให้เกิดผลดี ร่วมกับการบริหารจัดการใน รพ. ก็ต้องมีประสิทธิภาพด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันในเรื่องที่เห็นต่าง ซึ่งส่วนตัวแล้วยังมองว่าไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นประเด็นเข้าใจไม่ตรงกันมากกว่า เราคนไทยเหมือนกันเชื่อว่า ต่างก็ต้องการความสามัคคี ปรองดอง ไม่อยากให้เกิดภาพการประชุมถกเถียงที่เหมือนสงคราม ควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อให้ประเทศพัฒนาไปดีกว่า” ศ.นพ.สารเนตร์ กล่าว
นพ.มรุต กล่าวว่า คณะกรรมการจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาในคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ วันที่ 6 ก.ค. นี้ เบื้องต้นจะมอบให้แก่ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการ ก่อน โดยการแสดงความคิดเห็นต่างๆ แม้จะผ่านช่วงประชาพิจารณาไปแล้วก็ยังสามารถรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการได้ โดยขณะนี้การดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายบัตรทองเป็นไปตามกระบวนการ คืบหน้าแล้วประมาณ 50% จากนั้นจะรวบรวมทั้งหมดเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข วันที่ 17 ก.ค. นี้ โดยจะมีการพิจารณานำผลประเมินผลกระทบของการแก้ไขกฎหมายโดยสถาบันพระปกเกล้าฯ เสนอต่อ รมว.สธ. ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ยืนยันว่าจะสามารถทำทันภายในวันที่ 17 ก.ค. นี้หรือไม่ หากไม่ทันอาจต้องมีการกำหนดวันส่งมอบผลการประชาพิจารณ์อีก เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นก็จะไปสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ยังคงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อต่างๆ ถึงความไม่ชอบธรรมในการประชาพิจารณ์ ที่กำหนดเวลาน้อย และประเด็นอื่นๆ นพ.มรุต กล่าวว่า อย่างที่เคยชี้แจงว่า การประชาพิจารณ์มีทั้งออนไลน์ มีทั้งเวทีประชาพิจารณ์ หรือแม้แต่ออกตามสื่อก็มีการรวบรวมประเด็นทั้งหมด และการที่ระบุว่ามีการกำหนดเวลา 3 นาที ในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนั้น เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก การแสดงความคิดเห็นจึงกำหนดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าแค่นั้นยังเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นรูปแบบหนังสือ การเขียนต่างๆ มีช่องทางหลายอย่างมาก