xs
xsm
sm
md
lg

ส่งความเห็นร่าง กม.บัตรทองให้ทีมยกร่างพิจารณา คาด ก.ค.ได้บทสรุปส่ง รมว.สธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รวมความเห็นร่าง กม.บัตรทอง ส่งทีมยกร่างนำปรับแก้ไขต่อไป เตรียมประสานสถาบันพระปกเกล้าศึกษาผลกระทบ ก่อนสรุปส่ง “หมอปิยะสกล” พิจารณา ด้าน สปสช. ย้ำต้องปรับให้กฎหมายมีความยืดหยุ่น ระบบหลักประกันฯ ยั่งยืน

วันนี้ (30 มิ.ย.) นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายบัตรทอง พร้อมด้วย นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินทางมายื่นรายงานประมวลความคิดเห็นทั้งหมดจากการทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายบัตรทอง ซึ่งมีทั้งสิ้น 17 ประเด็น ให้แก่ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ เป็นตัวแทนรับมอบ

นพ.เสรี กล่าวว่า ตนจะนำรายงานการรับฟังความเห็นทั้งหมดรับส่งให้ รศ.วรากรณ์ ผ่านทาง นพ.มรุต ซึ่งจะไม่มีการเปิดเอกสารใดๆ ก่อนถึงมือ รศ.วรากรณ์ แน่นอน

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีการใช้มากว่า 15 ปี และที่ผ่านมา ด้านหนึ่งของกฎหมายสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชนอย่างมาก แต่อีกด้านก็ยังมีบางมาตราของกฎหมายที่ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน ดังนั้น การแก้กฎหมายในครั้งนี้ ต้องการทำเพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่น และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืนมากขึ้น และจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากทั่วประเทศ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่คณะกรรมการนำมาปรับให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมแล้ว ส่วนความห่วงใยที่ประชาชนกังวล ว่า กฎหมายฉบับนี้จะดำเนินต่อไปหรือไม่ ขอยืนยันว่า ขณะนี้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทุกอย่างของระบบหลักประกันสุขภาพเหมือนเดิมทุกประการ

นพ.มรุต กล่าวว่า ทาง สช. ถือว่า สร้างประวัติศาสตร์ในการรับฟังความคิดเห็นที่กว้างที่สุด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการนำข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดไปปรับแก้ และมอบให้สถาบันพระปกเกล้าศึกษาถึงผลกระทบข้อดีและข้อเสียของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าจะส่งข้อมูลดังกล่าวกลับมาให้ภายในวันที่ 12 ก.ค. นี้ จากนั้นจะนำมารวบรวมกับรายงานประมวลความคิดเห็นทั้งหมด 17 ประเด็น และจะมีการประชุมคณะกรรมการอีก 2 - 3 ครั้ง ก่อนจะส่งข้อสรุปข้อมูลทั้งหมดรวบรวมส่งให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข นำไปเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถส่งให้ นพ.ปิยะสกล ได้ภายในเดือน ก.ค. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น