ทีมประชาพิจารณ์พร้อมส่งความเห็นร่างกฎหมายบัตรทอง 30 มิ.ย. เดินหน้าจัดสัมมชาสุขภาพเฉพาะประเด็นปีงบประมาณ 61 ประเด็นรวม 3 กองทุน ชี้ ทำได้เป็นคุณูปการของประเทศ เหตุ 3 กองทุนทำให้เหลื่อมล้ำ สช. พร้อมช่วยประสานประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สสส.
วันนี้ (29 มิ.ย.) คณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายบัตรทอง มีการประชุมสรุปข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายบัตรทอง หลังจากที่มีการดำเนินการประชาพิจารณ์และจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์ กล่าวว่า คณะอนุฯ เห็นด้วยกับเอกสารการทำประชาพิจารณ์และพร้อมที่จะส่งข้อมูลทั้งหมด ให้ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ วันที่ 30 มิ.ย. นี้ พร้อมกับเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบผ่านเว็บไซต์รัฐบาล สปสช. สธ. และ สช. ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ด้วย
นพ.พลเดช กล่าวว่า ส่วนเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น คาดว่า จะสามารถดำเนินได้ในปีงบประมาณ 2561 เพราะ สช. ไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ในส่วนนี้ และบประมาณไม่ได้มีมาก ซึ่งการจัดเวทีดังกล่าวจะมีการพูดคุยเรื่องข้อเสนอแนะที่จะให้มีการรวม 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ละกองทุนมีกฎหมายคนละฉบับกัน แค่ปรับกฎหมายฉบับเดียวก็เป็นเรื่องยากมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากในระยะ 2 - 3 ปีนี้ สามารถทำได้ จะเป็นคุณูปการต่อประเทศไทยมาก เพราะการมี 3 กองทุน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หากประชาชนได้ใช้สิทธิสุขภาพเดียวกันจะมาลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ นอกจากนี้ ยังมีการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการว่า อาจจะมีการประสานให้ สช. ช่วยทำร่างประชาพิจารณ์ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. ... หรือร่าง พ.ร.บ.สสส. ด้วย หากมีการร้องขอมา สช. ก็พร้อมให้ความร่วมมือ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของ สช. อยู่แล้ว และขณะนี้เรื่องการทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายบัตรทองก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว
นายคำรณ ชูเดชา ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชน กล่าวว่า หากรัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.สสส. ต้องมีความหนักแน่นและคำนึงผลกระทบต่างๆ และต้องคงไว้ตามมาตรา 77 เรื่องความมีส่วนร่วม ความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งก็เห็นด้วยหากจะมีการจัดตั้งเวทีประชาพิจารณ์ในรูปแบบเดียวกับ พ.ร.บ. บัตรทอง ทั้งนี้ เห็นว่า ควรจะมีการดำเนินการก่อนจะมีการร่าง พ.ร.บ. และในขั้นตอนการร่างก็ควรเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการยกร่างจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ซึ่งในการร่างครั้งที่ผ่านมา ดำเนินการเพียง 3 กระทรวงเท่านั้น ควรต้องเพิ่ม คนจาก สสส. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชนเข้าไปด้วย ส่วนกระบวนการประชาพิจารณ์นั้น หากบอกว่าเปิดกว้างจริง ต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่สามารถกระจายถึงประชาชนทุกกลุ่มได้ ซึ่งการเปิดให้มีการลงทะเบียน หรือประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์นั้น มีประชาชนหลายกลุ่มเข้าไม่ถึง ซึ่ง สสส. มีงบประมาณในการทำประชาสัมพันธ์ในส่วนนี้อยู่ แล้วขนาดโฆษณางดดื่มแอลกอฮอล์ยังทำได้ เรื่องนี้ก็ควรจัดให้ฝ่ายนโยบายได้ออกมาพูดเชิญชวนประชาชนผ่านสื่อโทรทัศน์อีกช่วงทางหนึ่ง เนื่องจากน่าจะเป็นช่องทางที่สามารถติดต่อเข้าถึงทุกกลุ่ม รวมถึงประชาชนที่อยู่ในชนบทที่บางพื้นที่ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ไม่ดีนัก