xs
xsm
sm
md
lg

“วรากรณ์” ชี้ ร่าง กม.บัตรทองประชาพิจารณ์กว้างขวางสุดเท่าที่มี ยันพิจารณาทุกความเห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานยกร่างกฎหมายบัตรทอง ชี้ ไม่มีกฎหมายใดประชาพิจารณ์กว้างขวางเท่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ยันทุกความเห็นนำมาพิจารณา ย้ำไม่ใช่ขั้นสุดท้าย ยังต้องให้ รมว.สธ. ครม. กฤษฎีกา และ สนช. พิจารณาอีก ระบุความเห็นต่างถูกหยิบยกมาถกได้อีก

รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... กล่าวว่า กรณีตัวแทนภาคประชาชนมองว่าร่าง พ.ร.บ. มีแต่หน่วยบริการได้ประโยชน์ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการชุดนี้ทำงานโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ดังนั้น ทุกประเด็นที่มีการแก้ไขก็มุ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่มีส่วนที่จะทำให้หน่วยบริการได้ประโยชน์ เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการก็ทำเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุดจากงบประมาณที่จัดสรรลงไป เป็นต้น ซึ่งตนรับเข้ามาทำหน้าที่เพราะมีความศรัทธาในสิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปรับปรุงว่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

เมื่อถามว่า กังวลจะมีการล้มเวทีปรึกษาสาธารณะหรือไม่ รศ.วรากรณ์ กล่าวว่า เวทีประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นทั้ง 4 ภาคแล้ว ที่ผ่านมา ช่องทางการประชาพิจารณ์ก็มีหลายรูปแบบทั้งการพูด เขียน ทั้งยังมีออนไลน์ด้วย ทั้งทุกช่องทางได้ทำทุกจังหวัดมีเพียงที่ขอนแก่นที่ไม่ได้พูด ถือว่าครบถ้วนแล้ว ได้รับความเห็นเป็นพันแล้ว เวทีสาธารณะวันนี้ถือเป็นสิ่งเพิ่มเติมเป็นวิธีการใหม่ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำาใช้เพิ่มเติม คือ การให้คนมาพูดกันโดยไม่มีข้อสรุป ถือว่าเป็นของแถม กรณีที่ภาคประชาชนกังวลว่า ความเห็นต่างจะถูกหยิบยกไปไว้ที่ใด จะถูกนำมาพิจารณาหรือไม่ ยินยันว่า จะประมวลความเห็นทั้งหมดสรุปเป็นข้อแล้วนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้เห็นด้วย จากนั้นจะนำความเห็นเหล่านี้เข้าคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ เพื่อประมวลว่าจะแก้ไขอย่างไรต่อไป โดยดูว่าประเด็นไหนที่ประชาชนกังวลสุด ดูเหตุผล ไม่ยกคะแนนเสียงเป็นที่ตั้ง แต่ใช้ความเห็นพร้อมใช้เหตุผล โดยเสียงเห็นต่างจะถูกแนบไปในรายงานการประชุมครั้งนี้ โดยจะเสนอต่อ รม.สาธารณสุข ภายในวันที่ 19 ก.ค. นี้ ซึ่งในส่วนความเห็นต่างก็ขึ้นอยู่กับว่า รมว.สาธารณสุข จะมีการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อศึกษาหรือทำให้ความเห็นต่างลดลงอีกหรือไม่ และเมื่อ รมว.สาธารณสุข เห็นชอบก็จะส่งไปตามกระบวนการสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งในชั้นของกฤษฎีกาและ สนช. อาจมีการหยิบยกประเด็นข้อเห็นต่างขึ้นมาถกอีกได้ ทุกอย่างไม่ได้จบอยูในขั้นตอนนี้ เพราะเป็นเพียงการรวบรวมความเห็นเสนอขึ้นไปเท่านั้น

เมื่อถามว่า ภาคประชาชนอยากให้รับปากว่าข้อใดที่ยังเห็นไม่ตรงกันจะไม่นำไปบรรจุใน ครม. รศ.วรากรณ์ กล่าวว่า ตนจะพูดได้อย่างไร เพราะกรรมการเป็นผู้พิจารณาไม่ใช่ตนเป็นผู้พิจารณา เป็นมติของกรรมการที่ต้องหารือร่วมกัน ตนไม่สามารถบอกได้ว่าตรงไหนตนจะเห็นด้วย หรือตรงไหนตนจะรับปาก ไม่ได้ทำงานด้วยวิธีเช่นนั้น ทำงานด้วยการหารือกัน ทำงานเพื่อประชาชนมีหลายแง่มุมที่ต้องดู  ยืนยันความเห็นต่างจะถูกนำไปพิจารณาด้วย ไม่เช่นนั้น จะทำประชาพิจารณ์ไปทำไม เราตั้งใจที่จะรับฟังความเห็นและประมวลมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ รวมถึงสถาบันพระปกเกล้าได้ประมวลความเห็นเป็นชุดว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้ความเห็นเรานั้นถูกพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งสมัชชาสุขภาพเพื่อนำความเห็นต่างมาพิจารณา อาจจะทำให้ใช้เวลามากขึ้น รศ.วรากรณ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า สมัชชาสุขภาพก็ให้ทำไป แต่ที่ทำกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงขั้นต้น ทำเสร็จสิ้นแล้วก็นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้พิจารณาต่อว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าเห็นชอบก็ส่งไปที่ ครม. เพื่อขออนุมัติและส่งต่อไปที่กฤษฎีกา จากนั้นกลับมา ครม. อีกครั้ง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการการกฎหมายของ สนช. ตรงนี้ถือเป็นขั้นต้นมากๆ แต่ถึงจะเป็นขั้นต้นเราก็พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ยืนยันว่า เป็นกฎหมายที่เปิดเผย ไม่มีอะไรปิดบังเลยทั้งฉบับเปิดให้เห็นหมด เวลาในการประชาพิจารณ์ไม่น้อย เราจัดออนไลน์ประชาพิจารณ์มากว่า 20 วันแล้ว ทั้งไปเปิดเวทีครบทั้งสี่ภาค ที่ผ่านมา ตนยังไม่เคยเห็นกฎหมายฉบับไหนกว้างขนาดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น