xs
xsm
sm
md
lg

เชิญ “สถาบันพระปกเกล้า” ประเมินผลกระทบร่าง กม.บัตรทอง ยัน “วอล์กเอาต์” ไม่ล้มประชาพิจารณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมยกร่างกฎหมาย “บัตรทอง” แจงปรับแก้ พ.ร.บ. ตามคำสั่ง คสช. ปลดล็อกข้อติดขัดการบริหารจัดการ ไม่เกี่ยวสิทธิการรักษา ย้ำเรื่องร่วมจ่ายยืนตามกฎหมายเดิม เชิญ “สถาบันพระปกเกล้า” ประเมินร่างกฎหมายใหม่ส่งผลกระทบแง่บวกหรือลบ ทีมจัดประชาพิจารณ์พร้อมบันทึกทุกความคิดเห็น รวมการ “วอล์กเอาต์” ยันไม่ใช่การล้มเวที แต่เป็นหนึ่งในการแสดงความเห็น

จากกรณีการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งมีประเด็นหลักที่แก้ไขจำนวน 14 ประเด็น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน แต่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกลับไม่เห็นด้วย และมีการวอล์กเอาต์ในเวทีประชาพิจารณ์ทั้ง 2 ภาค คือ หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.เชียงใหม่

วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการแถลงข่าว (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่มีการยกร่าง พ.ร.บ. ใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีการใช้มานานถึง 15 ปี และพบว่า การดำเนินงานบางเรื่องเกิดอุปสรรคและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ รวมถึงถูกท้วงติงว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีการเขียนเอาไว้ชัดเจนใน พ.ร.บ. เช่น การจ่ายค่าเงินเยียวยาผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้สามารถดำเนินงานไปได้ โดยท้ายคำสั่งระบุว่า เมื่อไรที่แก้ไข พ.ร.บ. ให้นำประเด็นพวกนี้เข้าไปแก้ไขด้วย ดังนั้น การปรับแก้ พ.ร.บ. ในครั้งนี้ จึงมีทั้งประเด็นจากคำสั่ง ม.44 และจากการรวบรวมข้อคิดเห็นจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นประจำปี จากคณะกรรมการ และภาคส่วนต่างๆ

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ กล่าวว่า ยืนยันว่า การปรับแก้กฎหมายไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิทธิการรักษาพยาบาลเลย สิทธิประโยชน์ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ไม่มีน้อยลงกว่าเดิมแน่นอน ทั้งนี้ เมื่อรับการแก้ไขแล้วนั้น ทีมบริหารจัดการงบประมาณก็จะบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หน่วยบริการก็สามารถใช้งบเต็มเม็ดมากขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์จากการรับบริการได้ดีขึ้น ซึ่งหากไม่ปรับปรุงข้อติดขัดก็จะเป็นปัญหาต่อไป สำหรับ 14 ประเด็นหลักที่แก้ไข และเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น ยกตัวอย่าง การจ่ายเงินให้หน่วยงาน หรือองค์กรที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย จากเดิมที่กำหนดเพียงหน่วยบริการ สถานบริการ ผู้รับบริการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ขยายในการจ่ายผู้ให้บริการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพ

นพ.มรุต กล่าวว่า การใช้เงินกองทุนที่กำหนดให้จ่ายเฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคลเท่านั้น จึงมีการขยายให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข เช่น เป็นค่าใช้จ่ายประจำ ชดเชยค่าเสื่อม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น ทำให้เกิดการคล่องตัวในการให้บริการของหน่วยบริการเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ รวมถึงงบเหมาจ่ายรายหัวและเงินที่ได้จากผลงานบริการ ให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ และใช้จ่ายตามระเบียบเงินบำรุง เช่น จ่ายค่าน้ำไฟ ในการเปิดบริการแก่ประชาชน เป็นต้น การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขทุกสิทธิ การเพิ่มจำนวนองค์ประกอบบอร์ด สปสช. ให้สมดุล โดยมีการปรับเพิ่มและลดในบางส่วน โดยผู้แทนองค์กรส่วนท้องถิ่น เดิมมี 4 กลุ่ม ทาง อปท. ก็แจ้งให้เหลือเพียง 3 กลุ่ม ส่วนที่ปรับเพิ่มเข้ามา คือ ตัวแทน “หน่วยบริการ” ทั้งจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย กองทัพ ตำรวจ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งตัวแทน รพ.สังกัด กทม. ก็จะมาแทนส่วนของปลัด กทม. รวมถึงตัวแทนรพ.สังกัด สธ. 3 ส่วน คือ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รพ.ชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพราะการกำหนดสิทธิประโยชน์ การดำเนินงานบางอย่างก็ต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ปฏิบัติงานด้วย เหมือนการกินก๋วยเตี๋ยว ผู้ซื้อบอกอยากได้เท่านี้ คนคุมคุณภาพบอกกินแล้วต่ออร่อย แต่ไม่ได้ถามผู้จัดว่าทำได้เท่าไร เป็นต้น

“ส่วนบางประเด็นที่รับฟังความคิดเห็น ก็ยังคงตาม พ.ร.บ. เดิม เช่น ความครอบคลุมของบุคคลในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ ก็ยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือเฉพาะคนไทยที่อยู่บนแผ่นดินไทย เรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการ ก็ยังคงตามกฎหมายเดิม ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้วเรื่องการร่วมจ่าย แต่ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการ ส่วนการจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็ยังคงเดิม ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดว่า สปสช. ต้องเป็นผู้ดำเนินการ แต่เพื่อความเท่าเทียมระหว่างสิทธิ จึงให้มีการดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการร่วมโดยมี สธ.เป็นแกน และ สปสช. องค์กรภาคประชาชนก็ยังอยู่ในคณะกรรมการ สำหรับการแยกเงินเดือนบุคลากรไม่ได้หมายความว่าเอาเงินออกจากกองทุนบัตรทอง ยังคงอยู่ แต่เป็นการแยกให้ชัดเพื่อทำให้บริหารจัดการง่ายขึ้น อย่าง พ.ร.บ. เงินเดือนข้าราชการ ต้องเพิ่ม 6% ทุกปี แต่ที่ผ่านมา ไม่มีการแยกจุดนี้ทำให้ไม่รู้ว่าต้องเพิ่มอย่างไร จุดนี้จะเป็นความชัดเจนในการบริหารจัดการ” นพ.มรุต กล่าว

นพ.มรุต กล่าวว่า คณะกรรมการได้เชิญสถาบันพระปกเกล้า เข้ามาดำเนินการเป็นผู้ประเมินผลกระทบจากการยกร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทราบว่า การยกร่างจะส่งผลกระทบในแง่ลบหรือแง่บวกอย่างไร ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าอาจไปสอบถามความคิดเห็น ทั้ง สปสช. สธ. และภาคประชาชนว่าเห็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ และต้องการแก้ไขตรงไหน สำหรับการวอล์กเอาต์มองว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะเลขานุการ คณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจาณาร่างฯ กล่าวว่า การจัดเวทีประชาพิจารณ์เรายึดหลัก 3 ส่วน คือ ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสมานฉันท์ และเวทีสาธารณะ ทั้งนี้ ภาพที่เราต้องการคือ การรับข้อมูลตรงกัน มีโอกาสแสดงความเห็น เพื่อให้ถูกประเมินให้ครบทุกด้าน จึงมีการแยกกระบวนการรับฟังความเห็นออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจัดตั้งแต่วันที่ 2 - 19 มิ.ย. ซึ่งทุกคนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ 2. เวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค ซึ่งจัดไปแล้วที่ หาดใหญ่และเชียงใหม่ โดยเหลือเวทีที่ขอนแก่น และ กทม. ซึ่งยืนยันว่า เรารับฟังทุกความคิดเห็น ไม่ว่าเห็นด้วย เห็นต่าง ความเห็นทั้งในห้องและนอกห้องประชุมก็บันทึกทั้งหมด รวมไปถึงการวอล์กเอาต์เราก็รับฟังความคิดเห็นทั้งหมดเช่นกัน

“การวอล์กเอาต์ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ซึ่งทุกคนสามารถใช้สิทธิได้เต็มที่ และประชาธิปไตยก็เคารพในเรื่องนี้ และไม่ได้เป็นการล้มเวทีแต่อย่างใด เพราะไม่ได้ทำให้กระบวนการรับฟังความเห็นข้างในเสีย ไม่ได้ขัดขวาง แต่ถือเป็นสิ่งที่ดีงาม ส่วนอีก 2 เวทีที่เหลือจะมีการวอล์กเอาต์อีกหรือไม่ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เรารับฟังทุกความคิดเห็นในแน่นอน และการรับฟังความเห็นไม่ได้รับฟังแค่ 14 ประเด็น แต่รับฟังทั้งหมด” ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวและว่า 3. วันปรึกษาสาธารณะ วันที่ 20 - 21 มิ.ย. ซึ่งจะนำทุกความคิดเห็นมามองภาพไปด้วยกัน ส่วนไหนครบถ้วนหรือไม่อย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น