ปลัด สธ. ย้ำ แก้กฎหมายบัตรทอง เฉพาะบริหารจัดการ ไม่แตะสิทธิประโยชน์ ชี้ ยุคปฏิรูปปรองดอง ขอร่วมกันทำงานเพื่อประชาชน อย่าแยกผู้ซื้อ - ผู้ขายบริการ ปัดแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวเป็นการรวบอำนาจคืน ชี้ ไม่สามารถกระจายบุคลากรได้ ทำจังหวัดคนน้อยไม่เหลืองบดูแลรักษาพยาบาล
จากกรณีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกมาคัดค้านการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายบัตรทองอย่างหนัก โดยมีการยึดเวทีประชาพิจารณ์ที่ จ.ขอนแก่น และไม่ร่วมการประชาพิจารณ์ในเวทีอื่นๆ โดยระบุว่า มีการแก้กฎหมายเกินกว่าคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. เป็นการดึงอำนาจกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และทำให้ประชาชนเสียประโยชน์
วันนี้ (19 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนได้ปรึกษากับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งท่านชื่นชมการทำประชาพิจารณ์ที่มีคนมาแสดงความคิดเห็นกัน โดย ร่าง พ.ร.บ. นี้ ยังไม่ใช่ร่างหลักที่จะใช้ เพราะจะมีการปรับปรุงจากการทำประชาพิจารณ์อีก อย่างไรก็ตาม เดิมที รมว.สาธารณสุข และตนไม่อยากแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ เพราะมีคณะกรรมการดำเนินการอยู่ แต่เมื่อมีคำถามและอาจเกิดความไม่เข้าใจก็จำเป็นต้องออกมาย้ำว่า การแก้กฎหมายเป็นการปรับแก้เรื่องการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และไม่ได้ไปแตะสิทธิประโยชน์ใดๆ เลย และการแก้กฎหมายก็ยึดตามคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. เป็นหลัก แต่เมื่อลงรายละเอียดก็มีประเด็นอื่นๆ ในเรื่องการบริหารจัดการที่ต้องแก้ไข เช่น การเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เสนอว่า ควรแก้กฎหมาย เป็นต้น
“การแก้กฎหมายเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ที่สำคัญ สธ. ให้บริการเพื่อพี่น้องประชาชนมาตลอด ไม่เคยคิดยึดอำนาจอะไร และเคารพตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ที่มีมา โดย สปสช. เป็นผู้ซื้อบริการเพื่อประชาชน สธ. ก็มีโรงพยาบาลให้บริการเพื่อประชาชน ซึ่งคิดว่าต้องมาร่วมกันทำงานมากกว่าการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาด ว่า ผู้ซื้อผู้ขาย อย่างปัญหาเรื่องการจัดซื้อยารวมของ สปสช. เดิมทีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทักท้วงว่า สปสช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อยากถามว่าการซื้อยาร่วมทำไมต้องมีทางเลือกแค่ สปสช. ซื้อ หรือ สธ. ซื้อ ทำไมไม่เลือกทางเลือกที่สาม คือ มาทำร่วมกัน ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 ก็มีการตั้งคณะกรรมการต่อรองราคายา มีทั้ง สธ. สปสช. และภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย มองว่า ตอนนี้อย่ามาเอาชนะกันและกันเลน สู้มาปรองดองแล้วทำงานร่วมกันจะดีกว่า ซึ่งยุคนี้ก็อยู่ในยุค “ปยป” คือ ยุคปฏิรูป ยุคยุทธศาสตร์ และยุคปรองดอง” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ก็ไม่ใช่การดึงอำนาจกลับมาที่ สธ. แต่ที่ต้องแก้ไข เพราะเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการจริงๆ ซึ่งการรวมเงินเดือนกับงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อกระจายบุคลากร จะเห็นได้ว่าตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการกระจายตัวของบุคลากร แต่กลับทำให้เกิดปัญหางบประมาณของหน่วยบริการไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรน้อย แต่มีบุคลากรและโรงพยาบาลแต่เดิมจำนวนมาก เช่น สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ซึ่งเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว กลับมีงบเหลือไม่เพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชน โรงพยาบาลบางแห่งติดหนี้จนไม่สามารถสั่งซื้อยาได้ แต่หากแยกเงินเดือนออกจากงบ จะทำให้ทุกโรงพยาบาลได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อใช้บริการประชาชนที่เท่ากัน ไม่ต้องมีตัวแปรเงินเดือนมาเกี่ยวข้อง ยกเว้นบางโรงพยาบาลที่อาจได้รับเพิ่ม เพราะเป็นพื้นที่พิเศษ เนื่องจากอยู่ห่างไกล อยู่บนเกาะ เป็นต้น ซึ่งประเด็นการแยกเงินเดือนนี้มีการศึกษามาก่อน เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ศึกษาและบอกว่าจำเป็นต้องแยก จะทำให้ระบบอยู่ได้ และส่งผลดีต่อการบริการประชาชน ถือว่ามีข้อมูลการันตี และ รพ. ในพื้นที่ก็ประสบปัญหาจริง
“ส่วนการแก้ไขให้ปลัด สธ. เป็นรองประธานบอร์ด สปสช. ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะคณะกรรมการดูให้สมดุลกันก็เพียงพอแล้ว โดยหากกรรมการคิดถึงประโยชน์ของประชาชน คิดถึงความเป็นจริงในการให้บริการ มีจุดยืนที่ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้ และถ้าทำอะไรที่ไม่ยึดหลักพวกพ้อง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวก็จะไม่มีปัญหา” ปลัด สธ. กล่าวและว่า สำหรับการแก้กฎหมายบัตรทอง ขณะนี้ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ กำลังประสานสถาบันพระปกเกล้า มาประเมินผลกระทบจากการแก้กฎหมาย
นพ.โสภณ กล่าวว่า ล่าสุด สธ. ร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างร่างรายละเอียดในการจัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอขึ้น ซึ่งจะเป็นการบูรณาการงบประมาณด้านคุณภาพชีวิตทั้งหมด ทั้งงบส่วนของ สธ. งบท้องถิ่น งบกองทุนสุขภาพตำบล งบหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ทำงานโดยไม่ซ้ำซ้อน เช่น เรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ หากมีงบของหน่วยงานอื่นเข้าไปแล้ว ทาง สธ. ก็ไม่ต้องส่งไปต่อ เพื่อให้ไม่ซ้ำซ้อนและนำงบไปใช้อย่างอื่นได้อีก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายละเอียด ซึ่งล่าสุดรัฐมนตรีได้นำเรียนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยจะตั้งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ทั้งหมดก็เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ