xs
xsm
sm
md
lg

เข้าใจใหม่!! รัฐธรรมนูญไม่กำหนด ปชช.ต้องร่วมร่าง กม.แต่ร่าง กม.บัตรทองเปิดให้ร่วม 5 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษกทีมยกร่างฯ ยันแก้กฎหมายบัตรทองตามรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่มีกำหนดภาค ปชช. ต้องร่วมยกร่างฯ แต่มีการแต่งตั้งภาค ปชช. เข้าร่วม 5 คน พร้อมจัดเวทีประชาพิจารณ์นำความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาร่าง

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายบัตรทอง กล่าวถึงกรณีตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขร่างกฎหมายบัตรทองนั้นผิดต่อหลักรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ขอชี้แจงทำความเข้าใจ 2 ประเด็นคือ 1. ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 10/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยคำสั่งดังกล่าวออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการ และมีองค์ประกอบอื่นๆ ดังนี้ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 5 คน ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 4 คน ผู้แทนหน่วยงานอื่นของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 12 คน และมีภาคประชาชน จำนวน 5 คน ได้แก่ นายอัมมาร สยามวาลา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นางยุพดี ศิริสินสุข ผู้แทนองค์กรเอกชน (ผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ) นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้แทนองค์กรเอกชน (ด้านผู้สูงอายุ) นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจากองค์ประกอบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีภาคประชาชนจำนวน 5 คน เข้าร่วมในการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 77 วรรคสอง กำหนดว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งหลักกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดว่าจะต้องมีภาคประชาขนเข้าร่วมในกระบวนการยกร่างฯกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแต่งตั้งผู้แทนภาคประชาชนมาเข้าร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง (ประชาพิจารณ์) มีภาคประชาชนเข้าร่วมในสัดส่วนจำนวนที่มากกว่าภาครัฐ และภาควิชาการ และเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นโดยมิได้มีการปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

สำหรับเอกสารที่ใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็น หรือการประชาพิจารณ์ 4 ภาคนั้น ได้ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....  โดยในเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นหมายเลข 3 ที่เป็นตารางเปรียบเทียบ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ได้ระบุเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งความเห็นของเสียงส่วนน้อยของคณะกรรมการ ว่า มีความเห็นในแต่ละประเด็นมาตราอย่างไรด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น