xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยไตร้อง “ปิยะสกล” หารือ สตง.หลังเสนอทบทวนสิทธิ หวั่นถูกร่วมจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชมรมผู้ป่วยโรคไต ร้อง “ปิยะสกล” แก้ปัญหา หลัง สตง. แนะ สปสช. ทบทวนสิทธิผู้ป่วยไต ส่ออาจร่วมจ่ายค่ารักษา เหตุที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายสูง เสนอต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต่อรองราคายา ลดค่าใช้จ่ายแทน

วันนี้ (3 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทย นำโดย นายสมควร เกตุทอง รองประธานชมรมฯ นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ผู้ประสานชมรมฯ และ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว รองประธานชมรมฯ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อให้พิจารณาและทักท้วงประเด็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอให้บอร์ด สปสช. ทบทวนการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 52,976 ราย ในระบบบัตรทอง โดยมี นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายสมควร กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไต มีความกังวลกรณีข้อแนะนำของ สตง. ซึ่งอ้างข้อสังเกตของสำนักงบประมาณตั้งแต่ปี 2550 ว่า การรักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และสร้างภาระให้กับงบประมาณประเทศที่มีจำกัด ซึ่งการให้บอร์ด สปสช. ทบทวน กังวลว่า จะเป็นการให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต้องร่วมจ่ายหรือไม่ ซึ่งทางชมรมฯ ผิดหวังทัศนะและความคิดเห็นของหน่วยงานรัฐอย่าง สตง.  ทั้งที่ผู้ป่วยเมื่อป่วยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว อย่างตนเองป่วยมา 20 ปี หากไม่มีบัตรทองช่วยเหลือสิทธิสุขภาพ ก็จะทำให้ยิ่งแย่มากขึ้น แต่อยู่ๆ จะมาเสนอให้บอร์ด สปสช. ทบทวนแบบนี้ กระทบกับผู้ป่วยจำนวนมาก

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ชมรมฯ เสนอขอให้บอร์ด สปสช. โดยเฉพาะประธานบอร์ดฯ พิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ดังนี้ 1. ยึดประโยชน์ผู้ป่วยเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยมีหลักประกันที่จะไม่ถูกปฏิเสธการรักษา และจะต้องต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงค่าบริการต่างๆ ให้มีราคาถูกลง และมีคุณภาพ รวมทั้งมีการดำเนินการเพื่อการส่งเสริมป้องกันให้ผู้ป่วยมีจำนวนน้อยลงอย่างเข้มข้น  2. ยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะเป็นผู้ป่วยเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่ายในระบบบัตรทอง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ 3. ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ให้บริการเกินสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวน 2,317,542,295 บาท โดยให้มีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดบริการ และ 4. เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฏิรูป และลดความเหลื่อมล้ำระบบบริการสุขภาพทั้งสามาระบบให้เป็นมาตรฐานเดียว

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ผิดหวังมากกับ สตง. แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ ไม่เข้าใจในระบบ เพราะหากจะให้ผู้ป่วยไตเรื้อรังมาร่วมจ่าย จะกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ แต่ สตง. กลับมีข้อเสนอเช่นนี้ไม่รู้เป็นเพราะสาเหตุใด อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้อง นพ.ปิยะสกล ในฐานะ รมว.สธ. และประธานบอร์ดฯ ต้องกล้าหาญออกมาท้วงติงข้อเสนอของ สตง. เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิสุขภาพ ทั้งนี้ ชมรมฯ จะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) สตง. และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม

นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก กรรมการ สปสช. กล่าวในที่ประชุมบอร์ด สปสช. กรณีประเด็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ว่า ประเด็นการจ่ายเงินตามข้อทักท้วงของ สตง. ต้องไปดูในมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2550 เพราะหากพิจารณาแล้วจะพบว่า มีเขียนใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุถึงกรณีร่วมจ่ายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งกฎหมายมีอยู่เดิม เพียงแต่ สปสช. ไม่ได้ทำมาตั้งแต่ต้น

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ สปสช. สัดส่วนภาคประชาชาชน กล่าวว่า การกล่าวหาว่า สปสช. ไม่ยอมไปเก็บเงินตามมติ ครม. ปี 2550 ก็ต้องโทษทั้งบอร์ด สปสช. เพราะเป็นมติบอร์ด แต่หากพิจารณาแล้วจะพบว่า ตั้งแต่ปี 2550 ก็มีการร่วมจ่ายอยู่แล้ว ผู้ป่วยไตวายก็ร่วมจ่ายอยู่แล้วหากเลือกฟอกเลือด เขาก็ต้องจ่ายเงิน 500 บาท ดังนั้น การที่ สตง. มาทักท้วง จึงเห็นด้วยที่ รมว.สธ.จะช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจตรงจุดนี้

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาคือ เมื่อมีมติ ครม. 2550 ทำให้เมื่อมีการของบประมาณโรคไต ส่งผลให้สำนักงบประมาณไม่พิจารณาเพิ่มงบส่วนนี้ให้ แต่การจะไปลดสิทธิ ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะผู้ป่วยได้สิทธิมาแล้ว เรื่องนี้จึงต้องหาทางว่าจะดำเนินการอย่างไรให้งบเพียงพอ ซึ่งจุดนี้ควรมีคณะกรรมการ หรือคณะทำงานมาทำเรื่องนี้น่าจะดีหรือไม่

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการ สปสช. สัดส่วนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ กล่าวว่า จริงๆ หากย้อนกลับไปพิจารณามติ ครม. 2550 จะพบว่า ตั้งกรอบการใช้งบส่วนนี้ไว้ประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกรอบ แปลว่า ได้บริหารจัดการระบบได้เป็นอย่างดี โดยตนเคยพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ซึ่งสมัยนั้นท่านเป็นนายกรัฐมนตรี เดิมรัฐบาลชุดนั้นกำลังจะเปลี่ยนผ่านตั้งนโยบายจะไม่มีการอนุมัติงบประมาณระยะยาว แต่กลับพบว่าอนุมัติโครงการผู้ป่วยไตเรื้อรัง ซึ่งได้ขอพูดคุยกับท่าน ได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตคน เขาได้รับสิทธิเขาก็รอดได้

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกประเทศมีปัญหา ซึ่งเราไม่ใช่ว่าจะใช้งบปลายเปิดไปเรื่อยๆ เหมือนทุกวันนี้ ทำให้ต้องตามจ่ายหนี้แทบไม่ทัน ดังนั้น ควรต้องตั้งงบล่วงหน้าไว้ก่อนจะดีกว่า รวมทั้งการบริหารจัดการต้องมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น