xs
xsm
sm
md
lg

“บัตรทอง” ในการเมืองของความรู้สึก

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

มีผู้กล่าวว่า ความรู้สึกเป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง นั่นคือในการขับเคลื่อนหรือการตัดสินใจต่างๆ ของมนุษย์นั้น “ความรู้สึก” หรือ “อารมณ์” ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่กลายเป็น “เหตุผล” ของการตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาโดยแท้ของปุถุชนทั่วไป

โดยเฉพาะในเรื่องของ “การเมือง” นั้น ปฏิเสธได้ยากว่า “ความรู้สึก” และ“อารมณ์” เป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจทางการเมือง การมีปฏิกิริยาต่อประเด็นทางการเมือง หรือในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

เพราะความเชื่อในทางการเมืองนั้น มักจะผูกโยงกับคุณค่าทางคุณธรรมส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ลองสังเกตจากตัวคุณเองก็ได้ว่า การที่เราเลือกชอบหรือเลือกสังกัดกับพรรคการเมืองไหนหรือฝ่ายการเมืองใดนั้น ลึกแล้วมาจากความเชื่อว่าฝ่ายนั้นเป็น “ฝ่ายดี” ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ที่เป็นสถาบันส่วนรวมที่เป็นคุณค่าที่อยู่เหนือกว่าตัวเราขึ้นไป

รวมถึงการสังกัดอุดมการณ์ทางการเมือง เช่นการเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” “อำนาจนิยม” “เสรีนิยม” “สังคมนิยม” หรือ “อนุรักษนิยม” ก็เพราะเรามองว่าความคิดทางการเมืองหรืออุดมการณ์นั้นสอดคล้องกับความเชื่อในเรื่องความถูกต้องดีงามในความคิดของเรา

การขับเคลื่อนทางการเมือง นักการเมืองหรือใครก็ตามที่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องรู้จักเล่นกับ “ความรู้สึกทางการเมือง” ของประชาชน

เพราะมีบทพิสูจน์เสมอมาว่า เหตุผลและหลักฐานข้อมูลอันเป็นรูปธรรม ก็ยังต้องแพ้ความรู้สึกทางการเมือง

ตัวอย่างของการเมืองของความรู้สึกที่เป็นประเด็นในช่วงนี้ คือเรื่องของ “บัตรทอง” 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เป็นมรดกทางการเมืองชิ้นสำคัญที่ระบอบทักษิณทิ้งไว้ให้ ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นนโยบายที่มีฐานรากแข็งแกร่งที่สุด ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ไม่กล้าแตะต้องหรือขยับเขยื้อน

แม้แต่รัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นรัฐบาล คสช.เอง แม้จะมีความพยายามในการ “ปฏิรูป” ระบบบัตรทองอย่างเป็นรูปธรรม จนถึงมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อปฏิรูประบบบัตรทองให้มีประสิทธิภาพขึ้นแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่บุคลากรทางการแพทย์หลายกลุ่มเห็นตรงกันว่า ระบบบัตรทองไม่ควรเป็นระบบเหมารวม แต่ควรเป็นการ “ร่วมจ่าย” สำหรับคนที่พอจะมีความสามารถในการจ่ายได้

อันที่จริงโดย “เหตุผล” แล้วก็เป็นเรื่องที่น่ารับฟังและใคร่ครวญ แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากภาคประชาชนจนเวทีพูดคุยเรื่องนี้ล่มแล้วล่มอีก หรือมีเหตุประชดประชันกันวุ่นวายอย่างที่เป็นข่าวกันไป

ความแข็งแกร่งระดับแตะต้องไม่ได้ของนโยบายเรื่องบัตรทองนี้ ก็เพราะมันถูกทำให้เป็น “การเมืองของความรู้สึก” โดยฝ่ายการเมืองฝ่ายที่สร้างระบบนี้ขึ้นมานั่นเอง

เมื่อเป็น “การเมืองของความรู้สึก” เหตุผลใดๆ ก็ไม่เคยถูกรับฟังสักครั้ง การ “แตะ” นิดเดียว ว่าจะมีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็จะถูกต่อต้านจากทุกสารทิศ แบบที่ให้ฝ่ายที่เสนอขอปรับเปลี่ยนจะมีเหตุผลดีเพียงใดก็ไม่มีใครอยากรับฟัง

การเข้ามาของโครงการบัตรทองนั้น เป็นครั้งแรกที่ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในเชิงโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอันเป็นผลมาจากเรื่อง “ฐานะ” นั้นได้รับการมองเห็นและแก้ไขแบบเป็นระบบ

ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือคนยากคนจน ที่สามารถไปหาหมอหรือเดินเข้าโรงพยาบาลอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลใจกับเรื่องค่ารักษาเหมือนสมัยก่อน

เมื่อเรื่องของ “บัตรทอง” มันไปผูกเข้ากับความรู้สึกสำนึกเชิงฐานะ เรื่องของ “คนยากคนจน” “ความด้อยโอกาส” และเกี่ยวพันกับเรื่อง “ชีวิต และสุขภาพ” มันจึงค่อยๆเกิดเป็น “ความรู้สึก” ที่กลายเป็นเหตุผลให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าต้องปกป้องโครงการนี้

“ความรู้สึก” ที่ว่า คือนโยบายบัตรทองนี้เป็นเรื่องของการช่วยเหลือผู้คนให้สามารถมีชีวิต ให้สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อย่างทั่วหน้า

เราจึงเห็นได้ว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปเรื่องบัตรทองนี้ มีทั้งคนที่ต้องใช้ และคนที่ไม่ต้องใช้บัตรทอง

สำหรับคนที่อยู่ในข่ายต้องพึ่งพาบริการของระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าหรือเป็นผู้ใช้บัตรทอง “ความรู้สึก” ของเขาหากมีใครจะมาแตะต้องระบบนี้ ก็เหมือนกับการถูกเขย่า “ตาข่ายแห่งความปลอดภัย” (Safety Net) ทางสุขภาพและชีวิตร่างกาย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของพวกเขาโดยตรง

ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ต้องพึ่งพาระบบบัตรทอง แต่คนกลุ่มนี้ก็รู้สึกพอใจว่าระบบบัตรทองนั้นเป็นกลไกที่ช่วยทุเลาปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในทางสาธารณสุขในสังคมที่จำเป็นจะต้องรักษาไว้เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคุณค่าเชิงศีลธรรมที่พวกเขายึดถือ

ถ้าพูดแบบหยาบๆ คือ สำหรับ “คนจน” การจะมาแตะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบบัตรทอง จะเกิดความรู้สึกต่อต้าน ว่าจะเป็นการ “รังแก” พวกเขา ส่วนคนที่ “ไม่จน” ก็จะรู้สึกว่าการแตะต้องเรื่องบัตรทองนั้น “คนจนจะถูกรังแก” ซึ่งไม่ว่าจะในทางใด ความรู้สึกทั้งสองแบบนี้รุนแรงจนทำให้การปกป้องระบบบัตรทองนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกที่อยู่เหนือเหตุผลไปได้

ดังนั้นเรื่องของบัตรทองนี้ เปิดเวทีกันขึ้นมาเมื่อไร รับรองได้ว่าฝ่ายที่ผลักดันให้เกิดการแก้ไขนั้นเหนื่อยหนักแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองของความรู้สึกไปแล้ว ดังนั้นเหตุผลจะดีหรือแข็งแรงอย่างไรก็สู้ได้ยาก

และถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ยังคงไม่สามารถไปไหน หรือสามารถทบทวนเรื่องกลไกประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ได้อย่างมีเหตุมีผลด้วยข้อเท็จจริงได้เลย ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังติดกับดักการเมืองของความรู้สึกเช่นนี้อยู่

ทั้งเมื่อเป็นความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคม ให้รัฐบาลมีอำนาจขนาดไหน ก็จำเป็นต้องถอย

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการประกันสุขภาพ หรือการสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข เพียงแต่เราอาจจะต้องยอมรับว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นโครงการของรัฐ ที่ใช้ภาษีของประชาชนในการบริหาร มันควรจะสามารถทบทวน สรุปบทเรียน เสนอความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีและปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น แต่ละฝ่ายต้องยอมวาง “ความรู้สึก” ต่างๆ ลงไปก่อน และเดินเข้าสู่โต๊ะเจรจาด้วย “เหตุผล” โดยเอา “ข้อมูล” มาคุยกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น