สปสช. เผย งบดูแล “ผู้สูงอายุ” บัตรทองปีที่ 2 เพิ่มเป็น 900 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายครอบคลุมดูแลผู้สูงอายุ 1.5 แสนคน มี อปท. เข้าร่วมจัดระบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 13 เม.ย. ของทุกปี รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ไม่เพียงแต่เพื่อให้ลูกหลานเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ แต่ยังให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินนโยบายดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคน หรือร้อยละ 6.8 ของประชากร ในปี 2537 เป็น 10 ล้านคน หรือร้อยละ 14.9 ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน หรือร้อยละ 32.1 ในปี 2583 ยังมีภาวะเจ็บป่วยที่ก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง โดยปี 2558 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำการประเมินคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ 6,394,022 คน พบว่า เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ) ประมาณ 1.3 ล้านคน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนบริการด้านสุขภาพและสังคม
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปี 2559 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัวปกติในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 600 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบบัตรทอง โดยมีท้องถิ่นเป็นฐาน เน้นบริการเชิงรุกและการมีส่วนร่วมในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริการโดยเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการดำเนินงานปี 2559 ที่ได้เป้าหมายดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง จำนวน 100,000 คน เฉลี่ยเหมาจ่าย 5,000 บาทต่อคนต่อปี ครอบคลุมพื้นที่ อปท. ประมาณ 1,000 แห่ง โดยผลการดำเนินงาน พบว่า จากที่คาดการณ์ว่า จะมีผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงประมาณ 100 คนต่อ อปท. แต่จากผลการดำเนินงานพบผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงเพียง 40 - 50 คนต่อ อปท. เท่านั้น ส่งผลให้ปี 2559 ต้องขยายพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติม โดยจำนวน อปท. ที่เข้าร่วมจัดระบบดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในปี 2559 มีจำนวน 1,752 แห่ง ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง 80,826 คน
“สำหรับปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัวปกติในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 900 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดบริการสาธารณสุขให้กับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสิทธิบัตรทองต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมาย 150,000 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณให้กับ อปท. พื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ ผลจากนโยบายนี้ที่ได้ดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นับเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงติดบ้านติดเตียงทั่วประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสุขภาพและสังคม โดยมี อปท. ที่สนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากส่งผลให้ผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว