ก.แรงงานเตรียมออกหลักเกณฑ์แก้ปัญหา “แรงงานต่างด้าว” 3 เรื่อง เผยตั้งศูนย์รับแจ้งใช้แรงงานต่างด้าว พิสูจน์ทำงานร่วมนายจ้างมานานแล้ว วันที่ 24 ก.ค.นี้ จ่อประชุมกำหนดพื้นที่วันที่ 11 ก.ค. ยันค่าธรรมเนียมขออนุญาตทำงานแค่ 1,000 บาท ระบุ 20,000 เป็นเพดานสูงสุดตามกฎหมาย
วันนี้ (6 ก.ค.) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการรองรับ ม.44 เพื่อผ่อนคลายบทลงโทษจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า ในวันที่ 6 ก.ค. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะลงนามออกหลักเกณฑ์แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว หลักๆ มี 3 ข้อ คือ 1. หลักเกณฑ์การเปลี่ยนนายจ้างให้ตรงกับการจ้างงาน 2. ปลดล็อกให้แรงงาน 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า และกัมพูชาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ดำเนินการขอวีซ่า และใบอนุญาตทำงานไม่ทันใน 15 วัน มาดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งมีอยู่หลายหมื่นคน โดยตนกำลังจะเดินทางไปประเทศลาวเพื่อเจรจาขอให้เร่งทำการพิสูจน์สัญชาติให้เร็ว แม้แรงงานลาวจะมีไม่มาก แค่ประมาณ 8-9 หมื่นคนก็ตาม และ 3. เรื่องการตั้งศูนย์รับแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าวเฉพาะกิจ 15 วัน ซึ่งจะตั้งขึ้นในวันที่ 24 ก.ค. 2560 ให้บริการถึงวันที่ 7 ส.ค. 2560
นายวรานนท์กล่าวว่า สำหรับศูนย์รับแจ้งฯ จะเปิดทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำหนดพื้นที่ขึ้นใหม่ จะไม่ใช้สำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยจะระดมเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานส่วนต่างๆ ในระดับจังหวัดเข้ามาช่วยดำเนินการ คิดว่าเจ้าหน้าที่เพียงพอ และจะประสานขอทหารเข้ามาช่วยเหลือด้วย ทั้งนี้ หากเป็นจังหวัดเล็กจะมีการตั้งโต๊ะให้บริการ 30 โต๊ะ ส่วนจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเยอะจะตั้ง 300 โต๊ะ หากไม่พอ ตนสามารถสั่งการให้ตั้งโต๊ะเพิ่มเติมได้ เพราะทราบว่าต้องมีคนมาเป็นแสนคนแน่ โดยเฉพาะช่วง 1-2 วันแรก ส่วน กทม.ที่จะเปิด 10 จุดก็เป็นจุดละ 300 โต๊ะ ส่วนจะตั้งตรงจุดใดบ้างจะมีการประชุมกำหนดพื้นที่ในวันที่ 11 ก.ค.นี้
นายวรานนท์กล่าวว่า สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศของแรงงานต่างด้าว ขณะนี้หยุดไหลออกแล้ว คาดว่ามีออกไปประมาณ 6 หมื่นคน ส่วนหนึ่งคงไปทำเรื่องเข้ามาใหม่ให้ถูกต้อง และอีกส่วนหนึ่งก็กำลังไหลกลับเข้ามา แต่ยังบอกไม่ได้ว่าตัวเลขจะเข้ามาเท่าที่ออกไปหรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน ส่วนฝ่ายผู้ประกอบการตอนนี้เสียงสะท้อนก็คลายความกังวล พอใจที่มีการออกมาตรา 44 มา ส่วนมาตรการของเราเองก็มั่นใจว่าจะอำนวยความสะดวกได้
“ตอนนี้ไม่ทราบว่ามีกลุ่มไหนที่พยายามปั่นกระแสเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตทำงานสูงถึง 20,000 บาท ซึ่งไม่เป็นความจริง ตัวเลข 20,000 บาท ที่เห็นกันอยู่นั้นเป็นเพียงตัวเลขท้าย พ.ร.ก. ซึ่งเป็นมาตรฐานของการออกกฎหมาย ที่จะออกเพดานสูงสุดเอาไว้ ในนามของอธิบดีกรมการจัดหางานขอยืนยันว่าอัตราค่าค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตทำงานยังคงอยู่ที่อัตราเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือไม่เกิน 900 บาท บวกค่าคำขอ 100 บาท รวมเป็น 1,000 บาท ไม่มีส่วนต่างอะไรอีกแล้ว” นายวรานนท์กล่าว
เมื่อถามถึงการตั้งคณะทำงานรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว นายวรานนท์กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มตั้งทีมแล้วกำลังเสนอ รมว.แรงงานพิจารณา โดยจะมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงฯ เป็นประธาน ส่วนเรื่องผู้มีส่วนได้เสียไม่ต้องกังวล เพราะจะมีการรับฟังความเห็นหรือประชาพิจารณ์ แต่การเข้าร่วมเป็นคณะทำงานยังดูอยู่ แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผลงานของคณะทำงาน หรือการรับฟังความเห็นทั้งหมดก็จะถูกเสนอขึ้นไปให้รัฐบาลพิจารณาว่าควรจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็นที่จะมีการแก้ไขถ้าดูจากเวทีเสวนามีอยู่เรื่องเดียวคือ โทษปรับที่สูงก็ต้องมาพิจารณากัน ส่วนจะปรับลดลงหรือไม่นั้นยังพูดไม่ได้ แต่ความเป็นจริงคือเป็นอัตราที่อยู่ในกลุ่มกฎหมายใกล้เคียงกัน แต่ของประเทศเพื่อนบ้านยังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล แต่ตัวเลขของไทยเป็นตัวเลขสากลที่ต่างชาติก็เห็นด้วย