xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผยผุด พ.ร.ก.ต่างด้าวเหตุสถานการณ์บีบ ยันโทษปรับเหมือน กม.ค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรี อ้างออกกฎหมายต่างด้าวเป็น พ.ร.ก. เหตุกว่าจะผ่าน สนช. ช้า แถมสถานการณ์บีบต้องทำ ยันโทษปรับเซตเดียวกับกฎหมายค้ามนุษย์ ไม่ได้ร่างส่งเดช ส่วนคำสั่ง ม.44 ผ่อนปรน 4 มาตรา จนถึงปีใหม่ สั่งเจ้าหน้าที่ห้ามรีดไถ ด้าน รมว.แรงงาน จ่อกลับไปทบทวนการออกกฎหมาย ขณะที่ อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย พม่าผุด 5 ศูนย์พิสูจน์สัญชาติช่วย ส่วนลาวตั้งเดือนหน้า คาดยอดแรงงานเถื่อนมีไม่ถึงล้าน

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงกรณีการออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อผ่อนผัน การใช้ มาตรา 101, 102, 119, 122 ใน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า ตนถูกถามตั้งแต่วันแรก ว่า ทำไมรัฐบาลลักไก่ออกเป็น พ.ร.ก. ทำไมไม่ออกเป็นพระราชบัญญัติ คำตอบก็คือ นี่เป็นกฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้เวลาพิจารณานานกว่า 6 เดือน กว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ในขณะที่สถานการณ์ค่อนข้างบีบรัดมาก ต้องออกกฎหมายในเวลาอันสั้น เพราะถ้าออกช้าก็อย่าทำ จะออกกฎหมายทั้งทีต้องทำให้เร็ว สามารถจัดการอะไรได้หลายอย่าง จึงมีความจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก. ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไม่ออกเป็นมาตรา 44 เพราะไม่เคยออกอะไรที่เป็นยาวเกิน 5 - 10 มาตรา และกฎหมาย 145 มาตรา คำสั่งตามมาตรา 44 จะใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และใช้ชั่วคราว ในขณะที่ พ.ร.ก. นั้น จะเป็นกฎหมายระยะยาวและถาวร จึงจะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ดังนั้น ทางสายกลางจึงต้องออกเป็น พ.ร.ก.

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า กรณีแรงงานมีการกำหนดโทษปรับขั้นต่ำขั้นสูง 400,000 - 800,000 บาท แต่จะบอกว่าคนร่างกฎหมายทารุณโหดร้าย ไม่ละเอียดรอบคอบ ผิดมนุษยธรรม นั้นก็ไม่ใช่ เพราะกฎหมายดังกล่าวอยู่ในกฎหมายชุดเดียวกับกฎหมายค้ามนุษย์ ซึ่งมีอยู่ 4 ฉบับ แต่จะไปปรับกฎหมายให้มีความจุ๋มจิ๋มกว่าก็ไม่ได้ เพราะต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน คือ มาตรฐานค้ามนุษย์ นี่คือที่มา ขอยืนยันว่า ไม่ได้ร่างกฎมายแบบส่งเดช ไม่ได้ผิดมนุษยธรรม ดังนั้น คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 จึงออกมา โดยมีหลักการดังนี้ 1. ประกาศเจตนารมณ์โดยยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็ยังมีนโยบายต่อต้าน ไม่ลดราวาศอกให้กับการค้ามนุษย์ ถ้าปรับ 800,000 แล้วเบาไป อาจจะขึ้นถึง 1 ล้านบาท ก็ต้องทำ 2. เรายังคงห่วงเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และไม่ยอมอะไรให้มาฉุดการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้ จะมีการผ่อนปรน 4 มาตรา 101, 102, 119, 122 ใน พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับนายจ้าง และลูกจ้าง สูงสุดถึง 8 แสนบาท จากผ่อนปรนไว้ 120 วัน เปลี่ยนเป็น 180 วัน โดยทั้ง 4 มาตรา จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 61 ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่จับไม่ปรับ และไม่ดำเนินคดี และจะผ่อนปรนในการเดินทางของแรงงาน เพื่อกลับไปดำเนินการเรื่องต่างๆ และกำชับไม่ให้เจ้าหน้าที่รีดไถ หากพบเจ้าหน้าที่กระทำผิด สามารถร้องเรียนได้ที่รัฐบาล และศูนย์ดำรงธรรม รวมถึงต้นสังกัดของหน่วยงานนั้นๆ ระหว่างนี้ขอให้กระทรวงแรงงานไปทบทวน พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวว่าจะเปลี่ยนกำหนดโทษ หรือมาตรการอื่นๆ อีกหรือไม่ โดยให้เวลา 4 เดือน และส่งมาให้รัฐบาลพิจารณาต่อภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยมาตรา 44 จะออกภายในวันนี้

ขณะที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากนี้ไปจะปรับปรุงการอำนวยความสะดวกแก้สถานประกอบการในการติดต่อขอขึ้นทะเบียนลูกจ้างหรือรับทราบข้อมูล พร้อมกับจะชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทุ่มเทในการทำงานโดยไม่แสวงหาประโยชน์จากแรงงาน รวมถึงจะเร่งกลับไปทบทวนการออกกฎหมายโดยเร็ว

ด้าน นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า วันนี้เรามีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานเป็นที่เรียบร้อย 1.3 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้ได้อยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 มี.ค. 61 จำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องดำเนินการให้มีบัตรประจำตัว ให้ทันในวันดังกล่าว ซึ่งเราได้ทำข้อตกลงกับ พม่า ลาว และ กัมพูชา โดยพม่าได้ออกศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทยถึง 5 ศูนย์ด้วยกัน ซึ่งเขาได้เริ่มนำเอกสารมาแจกให้แรงงานของเขา ขณะที่ทางการลาวจะดำเนินการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในเดือนหน้า ส่วนตัวเลขแรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยนั้น ประเมินว่า มีไม่น่าเกิน 1 ล้านคน เพราะทุกครั้งที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จะมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 1 ล้านคนเศษ แต่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 400,000 คน ตนมั่นใจว่า เราจะดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวให้เรียบร้อยภายใน 6 เดือน

ทางด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้โทษที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. ฉบับนี้ ได้ถูกชะลอออกไปจนถึงปีใหม่ โดยจากนี้ 4 เดือน กระทรวงแรงงานจะต้องไปพิจารณาว่ามาตรการลงโทษจะต้องอยู่ขั้นไหน ซึ่งกรณีนี้ผู้ได้รับผลกระทบมีหลายกรณี ทั้งแม่บ้านที่จ้างคนมาเลี้ยงลูก หรือเจ้าของโรงงานหมื่นล้าน จึงต้องหาจุดลงตัวที่เหมาะสมว่าควรจะได้รับโทษแค่ไหนจึงจะพอเหมาะพอควร กับแต่ละกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ แต่ต้องไม่ให้ภาพรวมของกฎหมายเสียมาตรฐาน

นอกจากนี้ นายกฯ ได้เน้นย้ำ ผบ.ตร. ถึงกรณีแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับบ้าน ซึ่งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จะมีการกักตัวไว้ 1 - 3 วัน อีกทั้งกรณีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้จะกลับไปเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ถือว่าความผิดสำเร็จไปแล้ว เจ้าหน้าที่บางรายอาจเข้าใจว่าสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ โดยนายกฯ ระบุว่า ตรงนี้เป็นนโยบายรัฐบาล จะทำอย่างนั้นไม่ได้ จะหาเศษหาเลยไม่ได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์
กำลังโหลดความคิดเห็น