ก.แรงงาน เผย หลังบังคับใช้ “กฎหมายแรงงานต่างด้าว” ฉบับใหม่ มีแรงงานต่างด้าวกลับประเทศแล้วเกือบ 3 หมื่นคน แต่มีแรงงานเข้าประเทศถูกกฎหมายทดแทนมา 6 หมื่นคน ย้ำแรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงาน แต่ผิดนายจ้าง ผิดประเภทการทำงาน สามารถยื่นแจ้งทำเรื่องให้ถูกต้องได้ใน 1 วัน ระบุ มีแผนรองรับ รบ.ออก ม.44 ชะลอบังคับใช้กฎหมาย 3 มาตรา 120 วันแล้ว
จากการบังคับใช้ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวเข้าประเทศ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ เพราะหวั่นเกรงกฎหมายซึ่งมีโทษสูงมาก และทำให้ผู้ประกอบการหวั่นถึงภาวะขาดแคลนแรงงาน
วันนี้ (3 ก.ค.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ผ่านมา เคยได้ยินคำว่าแรงงานต่างด้าวเต็มเมือง หรือแรงงานต่างด้าวแย่งงานคนไทย หรือแรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของกิจการในเมืองไทยหรือไม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎหมายขึ้นมาดูแลและแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานเมื่อปี 2557 ก็ถือเป็นนโยบายที่ต้องแก้ปัญหา และดำเนินการกันมา 3 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายมา 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวเข้าประเทศ แต่เพื่อให้เกิดการบูรณาการ การควบคุม แก้ปัญหานายหน้าต่างๆ เลยออกเป็น พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดการคุ้มครอง ป้องกัน ฟื้นฟูผู้ที่อยู่ในวงจรการจ้างแรงงานต่างด้าว
พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องค่าปรับที่สูง 4-8 แสนบาท อยากชี้แจงว่า ไม่ใช่ว่าเรานึกอยากจะกำหนดโทษปรับอย่างไรก็ได้ แต่มีการอิงตามกฎหมายอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายในเดียวกัน คือ กฎหมายประมง กฎหมายใช้แรงงานเด็ก กฎหมายค้ามนุษย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าฐานความผิดยังเป็นฐานเดิม แต่เพิ่มโทษรุนแรงขึ้นเพื่อให้เกิดการจ้างและใช้แรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องการขาดแคลนแรงงานก็จะมีการออกมาตรา 44 มาชะลอการบังคับใช้มาตรา 101,102 และ 122 ออกไป 120 วัน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่กระบวนการอย่างถูกต้อง ในรายละเอียดเรื่องนี้กระทรวงแรงงานมีแผนรับมือเอาไว้แล้ว แต่จะเปิดเผยได้หลังมาตรา 44 ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นกระทรวงจะเข้าไปดูแล อำนวยความสะดวกให้เกิดการทำงานแบบถูกต้อง เน้นย้ำและประสานหน่วยงานอื่นให้ทำงานอย่างโปร่งใส ไม่แสวงหาผลประโยชน์ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ด้าน นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่า มีแรงงานเดินทางกลับประเทศตัวเองไปประมาณ 2.9 หมื่นคน แต่ก็มีแรงงานที่เข้าประเทศผ่านการทำเอ็มโอยูจำนวน 6 หมื่นคน ส่วนแนวทางต่างๆ ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว คือการอนุญาตให้แรงงานที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ผิดนายจ้าง ผิดสถานที่ ผิดประเภทงานสามารถไปแจ้งที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่งก็จะได้รับการอนุญาตให้ทำงานได้ โดยขั้นตอนนี้สามารถทำได้ภายใน 1 วัน และไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษอะไร เสียแค่ค่าธรรมเนียมตามปกติ สำหรับการเจรจราความร่วมมือกับทางพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการพม่ารับในหลักการเรื่องการส่งแรงงานแบบจีทูจีสำหรับการทำงานทุกประเภท และให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันฝ่ายละ 5 คน เบื้องต้นไทยจะมีสัดส่วนข้าราชการกระทรวงแรงงาน 4 คน เอกชน 1 คน อย่างไรก็ตาม สำหรับงานบ้าน และงานบริการ พม่ายังขอพิจารณารายบุคคลก่อน
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้คุยกันเรื่องแรงงานต่างด้าวบัตรสีชมพู และแรงงานประมง แปรรูปที่ได้รับอนุญาตออกกลับประเทศของตัวเองเมื่อช่วงสงกรานต์ และให้กลับเข้ามาทำการขอซีไอ เพื่อให้สามารถขอวีซ่าการทำงาน และขอใบอนุญาตทำงานได้นั้น พบว่า ยังมีแรงงานตกค้างกลับเข้าประเทศและทำเรื่องไม่ทันกว่า 1 แสนคน ดังนั้น จึงมีมติให้ขยายเวลาการเดินเรื่องเหล่านี้สำหรับผู้ถือบัตรสีชมพูประเภทการทำงานทั่วไปให้ดำเนินการภายในวันที่ 31 มี.ค. 2561 ส่วนแรงงานประมง และแปรรูปสัตว์น้ำให้ดำเนินการภายในวันที่ 1 พ.ย. นี้ รวมถึงมีการเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน และเห็นชอบตั้งอนุกรรมการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ที่มีอธิบดีกรมการจัดหางานเป็นประธาน จากนี้จะมีการเสนอร่างคำสั่งให้ประธาน กนร. ลงนาม ต่อไป ส่วนเรื่องการแก้ไขแรงงานภาคเกษตรนั้นถอนเรื่องออกแล้วให้ใช้กฎหมายเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวเข้าประเทศพ.ศ. 2560 ใน 3 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 101 คือ แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท มาตรา 102 นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับ 4-8 แสนบาทต่อราย และ มาตรา 122 คือ นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตัวเอง มีโทษปรับ 4-8 แสนบาทต่อราย