xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” พอใจ ม.44 แก้ พ.ร.ก.ต่างด้าว แต่ 180 วันพอหรือไม่ยังเร็วไปที่จะประเมิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกร.” แสดงความพอใจ! รัฐบาลใช้ ม.44 ชะลอบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว 4 มาตราออกไปถึง 180 วัน เพื่อให้เวลานายจ้างและลูกจ้างปรับตัว แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วระยะเวลาดังกล่าวจะพอหรือไม่ยังตอบไม่ได้



นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนพอใจกับการตัดสินใจที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ชะลอบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว จำนวน 4 มาตรา ออกไป 180 วัน เพื่อให้เวลานายจ้างและแรงงานปรับตัว เพราะขยายเวลาออกไปเพิ่มขึ้นอีกถึง 60 วัน จากเดิมที่ก่อนหน้าจะขยายเพียง 120 วัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของโทษปรับนั้นยังคงมองว่าสูงเกินไปถือเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขต่อไป

“ระเวลาดังกล่าวจะเพียงพอหรือไม่คงยังเร็วเกินไปเพราะอยู่ที่การปฏิบัติที่มีรายละเอียด แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาครัฐมีการ Action เรื่องนี้ได้เร็วมาก และสิ่งที่เอกชนต้องการจากนี้คือขอให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้แรงงานเข้าระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะมีผลต่อปัญหาการค้ามนุษย์และการจัดอันดับการค้ามนุษย์ที่สหรัฐฯ จัดไทยอยู่ในอันดับเทียร์ 2 จะหายไปในที่สุด”

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนเชื่อว่ารัฐจะไม่เปิดทั่วไป แต่จะต้องมีการทำจับคู่กันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างซึ่งคงต้องรอมาตรการของกระทรวงแรงงาน ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าระยะเวลา 180 วันที่ คสช.ใช้ ม.44 ชะลอการบังคังใช้กฎหมายนั้นจะเพียงพอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนหรือไม่

“กรณีข่าวการเรียกเงินจากปัญหาแรงงานผิดกฎหมายนี้ ภาครัฐออกมายอมรับว่ามีบางกรณีเกิดขึ้นจริง ซึ่ง ส.อ.ท.แจ้งให้สมาชิกทราบว่าหากมีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นขอให้แจ้งภาครัฐดำเนินการทันที ส่วนเรื่องค่าปรับเห็นด้วยกับผู้ที่จงใจทำผิดกฎหมาย แต่ต้องเปิดโอกาสผู้บริสุทธิ์ที่ตั้งใจทำถูกกฎหมายด้วยเช่นกัน และรัฐเองควรต้องทบทวนอาชีพสงวนให้กับแรงงานไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับปรุงบางอาชีพแล้วก็เห็นว่าอะไรที่ไม่มีแรงงานคนไทยทำจริงก็ต้องปรับเปลี่ยน” นายเจนกล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระยะเวลา 180 วันที่ คสช.ให้มานั้นนับว่าดี อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นห่วงแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทย ทั้งในภาคการเกษตร เช่น แรงงานเก็บผลไม้ รวมไปถึงแรงงานภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและงานบริการต่างๆ เช่นแม่บ้านที่มีจำนวนค่อนข้างมาก การรายงานตัวทำให้ถูกกฎหมายคงต้องมีนายจ้างไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น