xs
xsm
sm
md
lg

มติ สนช.อนุมัติร่าง พ.ร.ก.ต่างด้าว รมว.แรงงาน ชี้ ถ้าไม่ทำด่วนจะกระทบ ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.ก. ต่างด้าว รมว.แรงงาน ชี้ ถ้าไม่ทำด่วนจะส่งกระทบต่อความมั่นคงเศรษฐกิจ ยันคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ด้านสมาชิกระบุควรปรับปรุงให้ขึ้นทะเบียนเร็วขึ้น ไม่ให้มีเรียกรับประโยชน์ เชื่อออก ม.44 ช่วยระงับความตระหนกได้ ขณะที่ อธิบดีกรมการจัดหางาน ยันพิสูจน์สัญชาติไม่เกิน 1 วัน ตรวจร่างกายแค่ 1,500 บาท พร้อมฟัน ขรก. ทุจริต ก่อนมีมติเอกฉันท์ 177 งดออกเสียง 11 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง อนุมัติกฏหมาย

วันนี้ (6 ก.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลักการและเหตุผลของการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ สืบเนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ. การทำงานคนต่างด้าว 2551 พ.ร.บ. การนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ 2559 ไม่สอดคล้องครอบคลุมการทำงานต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถป้องกันปัญหาแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน จะส่งผลกระทบความมั่นคงเศรษฐกิจสังคม อีกทั้งการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ คำนึงถึงประโยชน์ของความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และทำให้การแก้ปัญหาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ บรรยากาศในที่ประชุมส่วนใหญ่สมาชิกเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. แต่ควรปรับปรุงรายละเอียดการดำเนินการขึ้นทะเบียนให้รวดเร็ว และไม่ให้มีปัญหาเรียกรับผลประโยชน์ โดย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สนช. กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวจำเป็นสำหรับไทย ตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาคือการขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งต่อมา คสช. รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และออกมาตรา 44 มาชะลอการบังคับใช้ใน 4 มาตรา ซึ่งช่วยหยุดการตื่นตระหนกได้บ้าง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ดังนั้น จะต้องอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนตั้งแต่ต้น และจะทำให้การค้ามนุษย์หายไป รวมทั้งจะต้องรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับแต่งในการออกกฎกระทรวงข้อบังคับต่อจากนี้ ปิดทางไม่ให้เกิดการตั้งด่านรีดไถ

ขณะที่ นายสุพรรณ มงคลสุธีร์ สนช. กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาแรงงาน จากปัจจุบันมีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง 1.3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขณะที่แรงงานจำนวนมากเกือบ 3 ล้านคน อยู่ในอุตสาหกรรมเล็กรองลงมา การจะนำแรงงานนี้เข้าสู่ระบบเรื่องสำคัญ คือ การอำนวยความสะดวก จากประสบการณ์ ขึ้นทะเบียน 1 วันเต็มๆ ได้เพียงแค่บัตรคิวซึ่งเป็นปัญหา โดยแรงงานส่วนนี้จะเข้ามาทำงานแทนคนไทยที่ขาดไป เสริมให้เศรษฐกิจแข็งแรง การแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียน คือ การอำนวยความสะดวก ทั้งการเอาเทคโนโลยีมาใช้ หรือ ใช้เอาต์ซอร์ส ให้เอกชนเข้ามาทำงานซึ่งเชื่อว่าจะทำได้ดี โดยให้มองแรงงานเหล่านี้เป็นลูกค้า อย่ามองว่าเป็นผู้สร้างปัญหา

ด้าน พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สนช. กล่าวว่า การออก พ.ร.ก. นี้ รัฐบาลมาถูกทาง โดยการขึ้นทะเบียนจะต้องอำนวยความสะดวกตั้งแต่ต้นทาง ไม่ให้ต้องมาคอยตั้งด่านจนถูกโวยวายสร้างความเสียหาย แต่ก็เห็นว่าคำนิยาม เรื่องผู้ประกอบการต้องกำหนดให้ชัดเจน รวมถึงกรณีที่แรงงานปรับเปลี่ยนนายจ้าง ยกตัวอย่างจ้างแม่บ้านมาก็ไม่ใช่จ้างมาล้างจานอย่างเดียวแต่ต้องทำงานหลายอย่าง จึงจะต้องสร้างความชัดเจน

ส่วน น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สนช. กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนจะต้องพัฒนาระบบให้ดี มากกว่าการปล่อยให้เป็นเรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ อีกทั้งควรจะต้องเชื่อมข้อมูล ทั้งตำรวจ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และ ในกรณีที่มีเรื่องจะได้สามารถติดตามตัวได้

พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาแรงงานให้สำเร็จ ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงเรื่องการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก โดยมีการประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี 2557 และเมื่อปีที่แล้วมีการรณรงค์อย่างหนักภายใต้สโลแกน “ผิดเป็นจับปรับเป็นแสน” ก่อน พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ก็รณรงค์ผ่านทุกสื่ออย่างหนัก

ทางด้าน นายวรานนท์ ปีตินันท์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เวลานี้ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องทั้งเพิ่มจำนวนศูนย์ และจัดหาเจ้าหน้าที่มาดำเนินการเพื่อให้ระยะเวลาการดำเนินการไม่นานเกินไป รวมทั้งประสานกับประเทศพม่า กัมพูชา ลาว เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดกับมาตรการที่ออกมา ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการจะใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน สำหรับการพิสูจน์สัญชาติ สำหรับใช้ในประเทศไทย มีอายุ 4 ปี เพื่อให้แรงงานต่างด้าวนำไปขอวีซ่ากับ ตม. เพื่อมาขอใบอนุญาตทำงาน กับกรมการจัดหางาน ขณะที่ขั้นตอนการตรวจโรคจะต้องไปตรวจกับทางโรงพยาบาลรัฐ เพื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยค่าใช้จ่ายธรรมเนียมทั้งหมดรวม 1,500 บาท ไม่ใช่เสียหลายๆ หมื่นอย่างที่กังวลกัน

นายวรานนท์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอต่างๆ นั้น จะรับไปพิจารณา เช่น การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้นั้น ก่อนสิ้นปีจะได้เห็นเวอร์ชวลเวิร์กเพอร์มิต สำหรับแรงงานที่มีสมาร์ทโฟน ที่จะอำนวยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับบัญชาจากรัฐมนตรี เรื่องป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ทุจริต ซึ่งได้ย้ำไปยังเจ้าหน้าที่แล้วว่าข้าราชการกระทรวงแรงงานทุกคนจะต้องไม่มีการทุจริต หากพบการทุจริตก็จะดำเนินการอย่างเฉียบขาดจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สนช. ได้มีมติเอกฉันท์ 177 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดยจะมีผลให้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ มีผลใช้บังคับเป็น พ.ร.บ. ต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น