ก.แรงงาน เล็งตั้งศูนย์รับแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เปิดโอกาสนายจ้างควงต่างด้าวผิดกฎหมาย ยื่นเอกสารพิสูจน์ทำงานด้วยกันจริง เผย ให้เวลา 15 วัน ก่อนคัดกรองออกเอกสารให้ไปขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายต่อไป ย้ำใบอนุญาตไม่ตรงนายจ้างให้รีบแจ้งเปลี่ยน จ่อออกเป็นประกาศฉบับแรกเริ่มจากต่างด้าว “พม่า” ก่อน
จากกรณีการบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมีการกำหนดโทษที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศจำนวนมาก และอาจเกิดผลกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงใช้คำสั่ง ม.44 ชะลอการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวใน 4 มาตรา คือ มาตรา 101 102 119 และ 122 เพื่อผ่อนผันบทลงโทษและให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกลับไปดำเนินการเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง และให้กระทรวงแรงงานปรับปรุงกฎหมายให้เสร็จภายใน 120 วัน
วันนี้ (5 ก.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน มีการจัดเสวนาวิชาการ “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ปวงชนชาวไทยได้อะไร” จัดโดยกรมการจัดการงาน (กกจ.) โดย ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงานว่า อย่างที่ทราบว่ามี ม.44 ผ่อนผันให้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายใน 6 เดือน ซึ่งในการประชุมจะเป็นการสื่อสารให้เข้าใจกันทุกฝ่าย โดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ โดยหลังจากนี้จะมีกฎระเบียบต่างๆ ออกมาเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานเสวนาได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังซักถามข้อสงสัย ปรากฏว่า มีคนยกมือแสดงความเห็นวิตกกังวลเรื่องบทลงโทษที่สูง 4 - 8 แสนบาท อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกังวลเรื่องอาจเป็นการเปิดช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่กระทำผิดได้หรือไม่ และเรียกร้องให้ยกเลิกบทลงโทษลักษณะนี้
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดี กกจ. แถลงข่าวภายหลังการเสวนา ว่า สำหรับคำสั่ง ม.44 นั้น ฐานความผิดตามกฎหมายยังมีอยู่ เพียงแต่ช่วง 180 วัน ยังไม่มีบทลงโทษ โดย รมว.แรงงาน จะออกประกาศกระทรวงฯ เพื่ออำนวยความสะดวกและเยียวยาในการให้ต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ ซึ่งคาดว่าจะออกฉบับแรกได้ในวันที่ 5 ก.ค. นี้ โดยคำสั่งที่จะออกมาก็เป็นในส่วนที่หลายฝ่ายกังวลกัน คือ 1. การเปลี่ยนนายจ้างหรือใบอนุญาตทำงานไม่ตรงกับนายจ้าง ก็จะเปิดให้มาเปลี่ยนนายจ้างให้ถูกต้องได้ ขอให้สบายใจ และ 2. การตั้งศูนย์รับแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว
“ไม่มีใครทราบตัวเลขแน่ชัดว่า แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีจำนวนมากน้อยเท่าใด แต่จากการเปิดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายให้ขึ้นมาอยู่บนดิน หรือ เซตซีโร่ จะพบว่า มีประมาณ 1.2 ล้านคน ลบจากแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่นำเข้าโดยการเอ็มโอยูอีก 4 แสนคน ก็น่าจะมีอีกประมาณ 8 แสนคน ซึ่งการจะเซตซีโร่นั้นที่ผ่านมาหลายครั้งก็บอกว่าเป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็ไม่เคยมี ดังนั้น มาตรการผ่อนคลายของกระทรวงจึงไม่ใช้วิธีเซตซีโร่ แต่ใช้การตั้งศูนย์รับแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าวแทน” อธิบดี กกจ. กล่าว
นายวรานนท์ กล่าวว่า ศูนย์รับแจ้งฯ จะให้นายจ้างและลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย คือ
ไม่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ทำงานด้วยกันมานาน ได้จูงมือเข้ามาพิสูจน์ว่ามีการทำงานด้วยกันจริง แต่ศูนย์นี้จะเปิดแค่ระยะไม่นาน คือ 15 วัน ซึ่งมั่นใจว่าระยะเวลาเพียงพอในการรับแจ้งทั้งหมด เพราะใช้เวลาไม่นาน เพียงมายื่นเอกสารแต่ละรายใช้ประมาณ 15 นาที ก็สามารถกลับได้เลย ไม่ต้องรอผล โดยเอกสารที่มายื่นก็จะให้ใช้น้อยที่สุด คือ แบบคำร้อง บัตรประชาชนนายจ้าง หรือใบปะหน้าบริษัท ส่วนต่างด้าวก็ใช้เพียงรูปถ่าย พาสปอร์ตที่เคยเข้ามาทำงาน รวมถึงแสดงหลักฐานอะไรว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างมานานเข้ามาด้วย ซึ่งศูนย์นี้จะจัดตั้งทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละแห่ง ส่วน กทม. จะมี 10 แห่ง คาดว่า จะตั้งให้รวดเร็วที่สุดภายใน ก.ค. นี้แน่นอน
นายวรานนท์ กล่าวว่า หลังจากนี้ จะมีการคัดกรองว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างจริงหรือไม่ บางรายอาจต้องมีการเรียกมาสัมภาษณ์เพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ เช่น ต้องตอบรายละเอียดระหว่างกันและกันได้ เป็นต้น ซึ่งหากผ่านแล้วก็จะออกเอกสารให้หนึ่งใบที่มีรูปลูกจ้าง เพื่อให้ไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ขอวีซ่าและขอใบอนุญาตทำงานตามลำดับ โดยเบื้องต้นประกาศฉบับแรกจะดำเนินการกับต่างด้าวพม่าก่อน เพราะมีการหารือกับทางการพม่าเรียบร้อยแล้ว โดยสถานทูตพม่าจะส่งบุคลากรและเครื่องมือมาช่วยสนับสนุนในการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจะทำจนกว่าพิสูจน์สัญชาติพม่าคนสุดท้ายจึงถอนคนออก ส่วนลาวและกัมพูชา คาดว่า จะหารือเรียบร้อยภายในสองสัปดาห์ ทั้งนี้ มาตรการที่มารองรับทั้งหมดคาดว่า ภายใน 31 มี.ค. 2561 ต่างด้าวจะอยู่ในระบบทั้งหมด
นายวรานนท์ กล่าวว่า ส่วนข้อ 4 ของมาตรา 44 ที่ให้กระทรวงแรงงานพิจารณาว่าประเด็นอะไรอีกหรือไม่ เพื่อปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสม ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ รวมถึงเรื่องบทลงโทษด้วย แล้วนำมาประเมินอีกครั้งว่าควรปรับปรุงอย่างไรหรือไม่
เมื่อถามว่า การเพิ่มโทษสูงขึ้นทำให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์มากขึ้น นายวรานนท์ กล่าวว่า เรื่องนี้มองได้ 2 มุม ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าอาจทำให้มีการเรียกรับผลประโยชน์มากขึ้น แต่อยากให้มองว่า สามารถช่วยให้คนเข้ามาสู่ระบบได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อดำเนินการจ้างอย่างถูกต้อง อย่างการจ้างผ่านเอ็มโอยูก็เพียงไม่เกิน 20,000 บาท ดีกว่าไปเสียค่าปรับสี่แสนบาทหรือให้เขาเรียกรับผลประโยชน์สูงขึ้น
“โดยรวม พ.ร.ก. นี้ มีประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ใครบางคน ซึ่งอยากให้ทุกคนได้รับทราบว่า กฎหมายนี้ไม่ใช่เพื่อใครบางคน อยากให้สื่อมีการสื่อสารตรงนี้ออกไปด้วยว่า ประโยชน์เกิดกับคนไทยทุกคน ส่วนบทลงโทษที่กำหนดไว้นั้น ที่หลายคนกังวลเรื่องโทษที่กำหนด 4 แสนบาท กฎหมายนี้ไม่ได้เน้นลงโทษลูกจ้าง เพราะหากนายจ้างปฏิบัติถูกกฎหมาย ลูกจ้างก็ไม่ทำผิด ซึ่งหากนายจ้างมีสำนึกดี ไม่เอาเปรียบคนไทยส่วนใหญ่ และหากทุกคนจ้างอย่างถูกต้อง มีสำนึกในการยอมรับกฎหมายก็ไม่ต้องกลัว ดังนั้น อย่าพูดย้ำเรื่องบทลงโทษ 4 แสน หรือ 8 แสนบาท ยิ่งพูดยิ่งขายหน้า เพราะหากเราไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัว” อธิบดี กกจ. กล่าว
นายวรานนท์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ว่า ต่างด้างไม่ยอมเข้าระบบเพราะขั้นตอนยุ่งยากเกินไป และบริการล่าช้า ตรงนี้ต้องชี้แจงว่า อย่างการจ้างงานผ่านระบบเอ็มโอยูในไทยใช้เวลา 15 วัน คือ แจ้งขอความต้องการแรงงาน (Demand Letter) จากนั้นยื่นให้โบรกเกอร์เพื่อรอนำเข้าแรงงาน แต่การนำเข้าก็ต้องรอทางฝั่งประเทศต้นทางด้วย ซึ่งยืนยันว่าการออกกฎหมายไม่ใช่การสนับสนุนนายหน้าหรือโบรกเกอร์ เพราะสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังมีการเอาผิดโบรกเกอรผืเถื่อนด้วย มีโทษปรับ 1 ล้านบาท ซึ่งโบรกเกอร์ถูกกฎหมายที่ยื่นกับกระทรวงแรงงานมีประมาณ 80 แห่ง ที่สำคัญการอนุญาตแรงงานต่างด้าวทำงานถือเป็นงานควบคุม มิใช่งานบริการที่ต้องเร่งดำเนินการอนุญาตให้เสร็จโดยไว ก็ต้องมีกฎหมายควบคุมและต้องเสียเวลาบ้าง
ด้าน นายสมพงษ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า สำหรับแรงงานข้ามชาติในระบบทั้งหมดกว่า 2.6 ล้านคน คาดว่า มีประมาณครึ่งหนึ่งผิดกฎหมายอยู่ใต้ดิน ทั้งจากปัญหาไม่ต่ออายุวีซ่า หรือใบอนุญาต กลุ่มเหล่านี้ได้รับผลกระทบชัดเจน บางส่วนตัดสินใจกลับบ้าน ซึ่งแรงงานข้ามชาติสะท้อนว่า หากใครผิดกฎหมาย หรืออยากให้กลับประเทศก็บอกตรงๆ ซึ่งภายใน 1 เดือนพร้อมจะกลับ ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดภาพเช่นนี้ จะเกิดผลกระทบหลายอย่าง โดยตนบอกว่าให้ใจเย็นๆ ไม่เกินสัปดาห์นี้น่าจะมีประกาศจากกระทรวงแรงงานว่า จะดำเนินการอย่างไร สำหรับผลกระทบกับคนไทยเห็นชัดเจนในเศรษฐกิจฐานล่าง เพราะเมื่อต่างด้าวกลัวไม่กล้าออกไปไหน พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของให้แก่แรงงานต่างด้าว ก็ขายของได้น้อยลง ที่ผ่านมาขายปลาได้วันละ 300 กิโลกรัม ทุกวันนี้ขายได้แค่ 100 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม เมื่อ คสช. ออกคำสั่งนี้มาก็เป็นโอกาสของทุกคน เป็นประเด็นท้าทายของรัฐบาล และการจัดการที่ดีของนายจ้าง หากจัดการดีแล้ว แรงงานก็ไม่ไปไหน ดังนั้น ต้องให้ความรู้พวกเขา ซึ่งตัว พ.ร.ก. ก็มีประโยชน์หลายเรื่อง
รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความโกลาหลที่เกิดขึ้นในช่วง 4 - 5 วัน ไม่ใช่เนื้อหา พ.ร.ก. แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการการใช้กฎหมาย ซึ่งไม่มีใครวิจารณ์เนื้อหากฎหมาย ปัญหา คือ การประกาศใช้ลักษณะนี้เหมาะสมหรือไม่ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ขณะนี้สังคมรับรู้เรื่องโทษรุนแรง 4 - 8 แสนบาท ผลตามมาคือเกิดความแตกตื่น กระทบกระบวนการผลิตชัดเจน ต้องถามว่าการบริหารจัดการลักษณะนี้ถูกต้องหรือไม่ หากไม่มีความเยียวยาผ่อนปรน ก็จะคล้ายๆ ตอนรัฐประหาร พบว่า แรงงานกัมพูชากลับบ้าน และกลับมาประมาณ 20% เท่านั้น และบทลงโทษที่สูงมองว่า จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี่ยงกฎหมายแพงขึ้น ยิ่งธุรกิจขนาดเล็กการทำให้ถูกกฎหมายก็แพงสำหรับเขา และอาจเอื้อต่อการติดสินบน
รศ.แล กล่าวว่า หากจะแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ต้องถามว่าจะแก้เพื่ออะไร ซึ่งการปรับปรุงก็เพื่อให้เป็นมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ไทยจะตกเทียร์ จึงต้องดูว่าการใช้แรงงานของเราเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งไม่ได้อยู่ที่มีการออกกฎหมายกี่ฉบับ แต่อยู่ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ นอกจากนี้ ควรพูดให้ชัดเจนว่า หากห่วงเรื่องการคว่ำบาตร ความมั่นคงของชาติ และการค้ามนุษย์ ก็ต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่ากฎหมายนี้จะช่วยได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม หากกังวลเรื่องจัดอันดับเทียร์ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ นอกจากไม่ช่วยให้เรามีเครดิตเพิ่มขึ้น ไม่ช่วยเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว ความโกลาหลทั้งหลายก็กระทบความมั่นคงเช่นกัน เพราะตอนนี้ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจถูกเขย่าอย่างแรง