xs
xsm
sm
md
lg

กม.วัตถุออกฤทธิ์ฉบับใหม่ ลดผู้เสพเป็นผู้ป่วย ไม่ต้องรับโทษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. เผย กม. วัตถุออกฤทธิ์ฉบับใหม่ ปรับลดผู้เสพเป็นผู้ป่วยไม่ต้องรับโทษ แต่เพิ่มบทลงโทษผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 - 2 มากขึ้น ปรับจากหลักแสนเพิ่มเป็นหลักล้านบาท พร้อมยกระดับการควบคุม ชี้นำเข้าต้องผ่านด่าน อย. ขณะที่วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 - 4 ต้องรายงานการใช้ต่อ อย.

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ได้รับการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อใช้ทดแทน พ.ร.บ. ฉบับเดิม โดยสาระสำคัญเพิ่มเติมของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ มีกฎหมายมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง ยกตัวอย่าง การขอใบอนุญาตเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 และวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ซึ่งห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง เดิมทีหากหน่วยงานใดจะทำการศึกษาวิจัยก็ต้องขออนุญาตมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งต้องยื่นผ่าน สธ. กฎหมายฉบับใหม่จึงลดขั้นตอนดังกล่าวลง โดยสามารถยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. โดยตรงได้เลย

“นอกจากนี้ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นเรื่องการปรับลดโทษในส่วนของผู้เสพวัตถุออกฤทธิ์ ไม่ว่าจะสมัครใจเข้ารับบำบัด หรือถูกบังคับบำบัด ถือว่ามีความผิดต้องรับโทษทั้งหมด แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเสพ การเสพและมีไว้ในครอบครอง หรือเสพและมีไว้ครอบครองเพื่อขาย หากผู้เสพมีความสมัครใจเข้ารับการบำบัด จะถือว่าเป็นผู้ป่วยไม่ต้องรับโทษ ซึ่งจะสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ที่ขณะนี้เน้นในเรื่องของการเปลี่ยนจากผู้เสพเป็นผู้ป่วย แต่หากเป็นการบังคับเข้ารับการบำบัดยังคงต้องรับโทษ ซึ่งโทษก็จะลดลงจากเดิมจำคุก 1 - 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่น - 1 แสนบาท ลดลงเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ภก.ประพนธ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับลดโทษในส่วนของผู้เสพ แต่จะมีการเพิ่มบทลงโทษในส่วนของการผลิต นำเข้า และส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และ 2 เดิมทีกำหนดโทษจำคุก 5 - 20 ปี ปรับ 1 - 4 แสนบาท โทษใหม่จะเพิ่มขึ้นคือจำคุก 5 - 20 ปี และปรับเป็น 5 แสน - 2 ล้านบาท ส่วนการขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และ 2 เดิมจำคุก 5-20 ปี ปรับ 1 - 4 แสนบาท เพิ่มเป็นจำคุก 5 - 20 ปี ปรับ 4 แสน - 2 ล้านบาท ส่วนการพักใช้ใบอนุญาตวัตถุออกฤทธิ์ หากกระทำความผิดเดิมจะพักใช้ใบอนุญาต 120 วัน ก็เพิ่มเป็น 180 วัน

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ก็จะมีความเข้มข้นขึ้น ตั้งแต่กระบวนการนำเข้า จากเดิมที่ไม่ต้องผ่านด่านอาหารและยา กฎหมายฉบับใหม่ก็กำหนดให้วัตถุออกฤทธิ์ต้องผ่านด่านอาหารและยา มีการห้ามเรื่องการโฆษณาที่ชัดเจน ในเรื่องการขายมีการห้ามเภสัชกรไม่ให้จัดวัตถุออกฤทธิ์เป็นชุดๆ เหมือน “ยาชุด” เพื่อขาย ขณะที่วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 และ 4 ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ สามารถครอบครองตามปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. กำหนดได้ โดยไม่ต้องขอนุญาตนั้น ก็มีการเพิ่มความเข้มงวด คือ สามารถครอบครองตามปริมาณที่กำหนดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่จะต้องมีการทำรายงานการใช้วัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวต่อเลขาธิการ อย. เพื่อเป็นการตรวจสอบว่ามีการใช้อย่างไร นำไปใช้ในทางที่ผิดหรือไม่ นอกจากนี้ ในส่วนของคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เดิมจะกำหนดให้มีผู้แทนจากกรมการปกครอง กรมคุมประพฤติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทยสภา และสภาเภสัชกรรม ก็ยกระดับให้ให้คณะกรรมการเป้นระดับอธิบดีของกรม และนายกสภาวิชาชีพ
กำลังโหลดความคิดเห็น