ปิดประชุม “ISPAH 2016 Congress” 80 ชาติ ร่วมประกาศ “ปฏิญญากรุงเทพ” แนวปฏิบัติส่งเสริมกิจกรรมทางกายฉบับแรกของโลก ย้ำ 6 ข้อเรียกร้อง หนุนทั่วโลกมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เน้นลงทุน - มีส่วนร่วม - พัฒนาคน - เทคโนโลยี - เฝ้าระวังและประเมินผล - งานวิจัย
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพร่วม และองค์การอนามัยโลก เป็นผู้สนับสนุนสำคัญ ทั้งนี้ ภายในงานมีการประกาศประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้าคือ ประเทศอังกฤษ
โดย ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า จากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องกิจกรรมทางกายและสุขภาพในการประชุมตลอด 4 วันที่ผ่านมา ทำให้ทุกประเทศทราบสถานการณ์ปัญหาที่คุกคามสุขภาพของประชากรโลก และรับรู้โดยทั่วกันว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังกำลังเป็นภัยเงียบที่ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ภาวะเนือยนิ่งขาดกิจกรรมทางกาย พบว่า ระดับการมีกิจกรรมทางกายทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน อายุ 11 - 17 ปี ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ที่ทั่วโลกต้องมีมาตรการจำเป็นเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ทำให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นปฏิญญาฉบับแรกของโลกที่เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติการเพื่อกิจกรรมทางกายอย่างแท้จริง
ศ.ดร.ฟิโอนา บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กล่าวว่า ประกาศปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาวะโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน เสนอข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วน 6 ข้อ คือ 1. ยืนหยัดเป้าหมายและเพิ่มการลงทุนการดำเนินการตามนโยบายที่นำไปสู่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั่วโลก และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 2. สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับชาติและสร้างเวทีประสานความร่วมมือ ทุกประเทศสมาชิกควรดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ที่มีการกำหนดกลไกและทรัพยากรที่สร้างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3. พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทุกวิชาชีพ อาทิ สุขภาพและสาธารณสุข นักวางแผนผังเมืองและการคมนาคม สถาปนิกและภูมิสถาปนิก กีฬาและสันทนาการ นักการศึกษา และผู้กำหนดนโยบาย
ศ.ดร.ฟิโอนา กล่าวต่อว่า 4. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างประเทศและภูมิภาค โดยพัฒนายุทธศาสตร์และขับเคลื่อนความช่วยเหลือในเชิงเทคนิคที่มีอยู่ให้ไปสู่ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ 5. สร้างความเข้มแข็งด้านการติดตามประเมินผลและการเฝ้าระวัง โดยปัจจุบันยังมีช่องว่างในระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์กิจกรรมทางกายในกลุ่มเยาวชน รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มอายุระหว่าง 5 - 13 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ โดยหลายประเทศยังไม่มีระบบการติดตามแนวโน้ม หรือการรายงานข้อมูลได้อย่างทันเวลา และ 6. ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและการประเมินผล เพื่อพัฒนางานวิจัยและฐานข้อมูลเชิงประจักษ์โดยเฉพาะในด้านที่ยังขาดองค์ความรู้ เช่น การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ การวิจัยเชิงปฏิบัติการในประชากร การประเมินผลนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งต้องมีการจัดตั้งและสนับสนุนการวิจัยแบบสหวิทยาและโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพสำหรับทำงานวิจัย
“ปฏิญญากรุงเทพจะเป็นข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิก เพื่อเรียกร้องต่อภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้ทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงองค์การอนามัยโลก และประเทศสมาชิก องค์การสหประชาชาติ และองค์กรที่มิใช้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคส่วนเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันสนับสนุนและนำปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยเรื่องกิจกรรมทางกายนี้ไปปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.ฟิโอนา กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ผู้จัดการกองทุน สสส.) กล่าวว่า การดำเนินการของประเทศไทยตามปฏิญญากรุงเทพ เพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอนั้น สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ยกร่างยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นแนวทางการทำงานให้แก่กระทรวงต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายได้ตามบริบทการทำงานของแต่ละกระทรวง ซึ่งมาตรการสำคัญที่จะส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น คือ การมีผังเมืองที่ดีที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย การคมนาคม ตลอดจน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่จะมีสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายตามช่วงวันที่เหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยต่างๆ ที่จำเป็นด้วย